ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS วิเคราะห์หลังรัฐบาลออกมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 68 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดกระทบธุรกิจกำไรลงลงราว 10% ต่อกิโลกรัม
หลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2568 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS จึงได้ทำการวิเคราะห์ “ส่องความท้าทายของผู้ประกอบการ หลังภาครัฐแบนนำเข้าเศษพลาสติก”
โดยรายงานว่า ในปี 2565 ปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยอยู่ที่ 1.79 แสนตัน หรือขยายตัว 13.0%YoY คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าราว 47.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 5.53 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2559
ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2560 ซึ่งอยู่ที่ราว 8 หมื่นตันต่อปี ทำให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมและห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568
“เศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาที่ถูกกว่าขยะพลาสติกภายในประเทศประมาณ 2-4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้ประกอบการไทยมักเลือกนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมากกว่าการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ เพื่อนำมาแปรรูปและรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ”
ทั้งนี้ หากมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเริ่มมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานพลาสติก ดังต่อไปนี้
ธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า เนื่องจากเป็นตัวกลางในการรับซื้อขยะจากประชาชนและซาเล้งเพื่อขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล ซึ่งราคาขายต่อขยะพลาสติกของร้านรับซื้อของเก่าที่ขายให้โรงงานรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.2 ถึง 2 เท่าของราคาที่รับซื้อขยะพลาสติกจากประชาชนและซาเล้ง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อราคาขายต่อขยะพลาสติกให้โรงงานรีไซเคิล โดยในการประเมินเริ่มจากการคาดการณ์ราคาขายต่อขยะพลาสติกจากแนวโน้มราคาเม็ดพลาสติก ซึ่งคำนวณมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ จากนั้นคาดการณ์ราคาขายต่อขยะพลาสติก กรณีรวมผลของมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก
โดยประเมินจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทย กับการเปลี่ยนแปลงของราคาขายต่อขยะพลาสติกเฉลี่ยในปี 2562-2565 พบว่า เมื่อสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทยเพิ่มขึ้น 1% ทำให้ราคาขายต่อขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นราว 0.9 เท่า แล้วนำตัวเลขดังกล่าวมาคำนวณกับการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทยในปี 2566-2568
ธุรกิจรีไซเคิลและผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลจะ รับซื้อขยะพลาสติกภายในประเทศร่วมกับการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งในแต่ละปีไทยใช้เศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฉลี่ยราว 25% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด
โดยจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้ว่า ในปี 2565 ไทยมีโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลพลาสติกจำนวน 4,770 แห่ง ซึ่งกว่า 43% ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 500 ตันต่อปี
ทั้งนี้ ในปี 2568 โรงงานรีไซเคิลจะเผชิญกับความท้าทายหลัก 2 ประการ ได้แก่
1) ผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะทำให้ราคาขยะพลาสติกภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบขยะพลาสติกของโรงงานรีไซเคิลสูงขึ้น
2) ราคาขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
“Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการรีไซเคิลจะมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงราว 10% ต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นของการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั่วไปในปี 2565 เนื่องจากราคาขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ 100% มีแนวโน้มลดลงราว 10% เป็น 52 บาทต่อกิโลกรัม ตามราคาน้ำมันดิบและการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ”
ขณะเดียวกัน ยังประกอบกับต้นทุนของวัตถุดิบขยะพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นราว 20% เป็น 15.4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อต้นทุนอื่นๆ คงที่ ทำให้ใน ปี 2568 ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากขยะพลาสติกภายใน ประเทศ 100% จะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 46% ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั่วไปในปี 2565 ที่ 10% ต่อกิโลกรัม