IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

“รีไซเคิล” เป็นธุรกิจที่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการซื้อกิจการ บริษัท เวลแมน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในยุโรป เพื่อเดินหน้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง

และมอบหมายให้ “ยาโชวาดัน โลเฮีย” หรือ “คุณยาช” ลูกชายของ อาลก โลเฮีย ซีอีโอกลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส มานั่งเป็น ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคม และ การกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส

- วิชั่น 2030 เดินหน้า Net Zero
เมื่อปี 2565 นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ประกาศ Vision 2030 ด้วยเป้าหมายความยั่งยืน science-based targets สนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี 2593 (ค.ศ.2030) ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการริ่เริ่มกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative: SBTi) ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนที่ท้าทายของบริษัทฯ พร้อมร่วมเป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญใน SBTi Expert Advisory Group สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

ไอวีแอล มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดบนเส้นทางสู่ “Net Zero” บน 3 เสาหลัก ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมและยั่งยืน และการเป็นองค์กร ที่พร้อมสำหรับอนาคต ปัจจุบัน ไอวีแอล เป็นผู้ผลิต recycled PET สำหรับขวดเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว และจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) รวมทั้งยกระดับความสามารถในการรีไซเคิล PET เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยตรวจจับคาร์บอนที่เกิดจากการดำเนินงาน เพิ่มการบริโภคพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้ถ่านหินเพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2)

เป้าหมายของไอวีแอล คือ การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% และเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 25% โดยเทียบจากปีฐาน พ.ศ.2563 ดังนั้น ต่อปีจะต้องมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งที่ผลิตในโรงงานและจัดหาจากภายนอกผ่านข้อตกลงการซื้อพลังงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอนใหม่ๆ และการดักจับคาร์บอน (carbon capture) มาปรับใช้นำเสนอวัตถุดิบเชิงชีวภาพในห่วงโซ่คุณค่าปิโตรเคมี และขยายกำลังการรีไซเคิล PET ซึ่งเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ ยังจะช่วยให้ลูกค้าและคู่ธุรกิจของบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง science-based targets แบบเดียวกันนี้

ไอวีแอล เลือกใช้วัตถุดิบชีวภาพให้มากขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าแบบบูรณาการ ปัจจุบัน วัตถุดิบกว่า 80% ที่ใช้มีโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนผสม ซึ่งสามารถทดแทนได้ด้วยวัตถุดิบทดแทนหรือหมุนเวียนเชิงชีวภาพได้ และตั้งเป้าว่า หนึ่งในสามของส่วนผสมวัตถุดิบจะมาจากแหล่งที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ.2573

- ลดการใช้นํ้า 10% ปี 2568
ไอวีแอล ยังมุ่งมั่นที่จะลดอัตราการใช้นํ้าลง 10% ภายในปี 2568 และ 20% ภายในปี 2573 โดยได้พัฒนารายงานการประเมินความเสี่ยง ด้านนํ้านำเสนอความพยายามของบริษัทฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals หรือ UN SDGs)

สำหรับการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน (whistleblower) พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และมีนโยบายเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโอกาสในเทคโนโลยีสะอาด ไอวีแอล อยู่ระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลและวัตถุดิบตั้งต้นเชิงชีวมวล ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 และยังอยู่ระหว่างการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิผลการดำเนินงาน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน การใช้พลังงานทดแทน และการเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2

ล่าสุด อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังได้รับการยกระดับจาก “BBB” เป็น “A” ในการจัดอันดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ของ MSCI ตอกยํ้าถึงการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

MSCI หรือ มอร์แกน สแตนลีย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการจัดทำดัชนีและบทวิเคราะห์อ้างอิงจากงานวิจัย ได้จัดอันดับให้อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือไอวีแอล เป็นหนึ่งใน 14% อันดับแรกของบริษัท 65 แห่งทั่วโลกในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พื้นฐาน (commodity chemicals) โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส มีผลการประเมินที่อยู่ในควอร์ไทล์สูดสุด (top quartile) ทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ โอกาสในเทคโนโลยีสะอาด การจัดการนํ้า การกำกับดูแลกิจการ และพฤติกรรมองค์กร

- ขยายกำลังผลิตรีไซเคิล
นายยาช เล่าว่า เป้าหมายของเขาคือ การขยายกำลังผลิตให้ได้ 7.5 แสนตันต่อปี ภายในปี 2568 ด้วยงบลงทุนกว่า 1.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือ ราว 4.9 หมื่นล้านบาท จากโรงงานรีไซเคิลที่มีอยู่ 20 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทุกภูมิภาค อาทิ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ไทย และ ฟิลิปปินส์ นั่นหมายความว่า เขาจะสามารถรีไซเคิลขยะขวดพลาสติกได้ปีละ 5 หมื่นล้านขวด

ปัจจุบันไอวีแอลได้รีไซเคิลขวดได้ครบ 9 หมื่นล้านขวดตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจรีไซเคิลในปี 2554 เทียบได้กับนํ้าหนักช้าง 2 แสนเชือกและลดการใช้นํ้ามันดิบได้ 3 ล้านบาเรล ลดปริมาณขยะพลาสติก 2 ล้านตันที่ต้องนำไปฝังกลบ

นายยาช ได้วางเป้าหมายธุรกิจ ที่จะขยายธุรกิจรีไซเคิลของเขาไปทั่วโลก เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ ภาวะวิกฤติของสภาพอากาศทั่วโลก โดยรูปแบบธุรกิจ เป็นได้ทั้งการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A หรือ Mergers and Acquisitions) การลงทุนตั้งกิจการใหม่ (Green Field) หรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อเดินหน้าสร้างโลก และธุรกิจให้มีความยั่งยืน
IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

ความท้าทายคือการหาขยะพลาสติกมาป้อนให้กับโรงงานให้ได้ ตามเป้าในขณะที่หลายประเทศห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกเพราะฉะนั้น เขาต้องอาศัยเครือข่ายพาร์ทเนอร์จากหลายแหล่ง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการผลิต

นายยาช ยังมีแผนงานในการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยสอนให้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยแยกขยะอย่างถูกต้อง ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ต่อการแยกขยะและแนวทาง3Rs-ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซํ้า (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle)โดยตั้งเป้าหมายระยะยาว 30 ปี (2560-2590) ในการดำเนินโครงการ โดยปัจจุบันโครงการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิลที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ที่อินโดรามา เวนเจอร์ส มีโรงงาน 147 โรงงานใน 35 ประเทศ และมีโรงงานรีไซเคิล 20 แห่งทั่วโลก

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/566156 

วันที่ 03 มิถุนายน 2566