EPG ตั้งเป้ายอดขายโต 10%

อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ตั้งเป้ายอดขายปีบัญชี 66/67 โต 10% พร้อมตั้งงบลงทุน 450 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มเครื่องจักรสำหรับผลิตสินค้าใหม่ รวมถึงปรับปรุงไลน์การผลิต ขณะบอร์ดอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และให้จ่ายปันผลอีกหุ้นละ 0.14 บาท

ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG เปิดเผยว่าปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66-มี.ค.67) บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10% อัตรากำไรขั้นต้นที่ 30-33% มาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจ ทั้ง ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% มาจากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมร่วมกับลูกค้ากลุ่ม OEM ค่ายยานยนต์ของยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ Aeroklas Asia Pacific Group (AAPG) ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเสริมการทำงานร่วมกันของธุรกิจและทุกแบรนด์ในออสเตรเลียเพื่อเพิ่มยอดขาย พร้อมกับควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อเทิร์นอะราวนด์ธุรกิจในออสเตรเลียอย่างเร็วที่สุด และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10-12% โดยเร่งให้เกิดอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น

ทั้งนี้ EPP ได้ส่งบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เช่น กล่องอาหารรุ่น TF เพื่อทดแทนกล่องโฟม อีกทั้งตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารเป็นสินค้าควบคุม ต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มอก.655 ซึ่งเป็นมาตรฐานของภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก และ มอก.2493 สำหรับภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 มกราคม 2566

ขณะที่การดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัท อีพีจี อินโนเวชัน เซ็นเตอร์ จำกัด ไม่เพียงแต่สนับสนุนธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจ ด้วยการสร้างสินค้านวัตกรรม New S-Curve แต่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้านวัตกรรมสำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ในอนาคต

ดร.ภวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตั้งงบลงทุนปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66-มี.ค.67) รวม 450 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มเครื่องจักรสำหรับผลิตสินค้าใหม่ รวมถึงใช้ปรับปรุงไลน์การผลิต อีกทั้งคณะกรรมการอนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่ให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่บริษัทสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต

สำหรับปีบัญชี 2565/2566 (1 เม.ย.2565-31 มี.ค.2566) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 12,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 11,740 ล้านบาท อีกทั้งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 33% และมีกำไรสุทธิ 1,082 ล้านบาท ลดลง 32.50% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีบัญชีหลัง และสภาวะเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2566 วันที่ 20 ก.ค.2566 นี้ และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 31 ก.ค.2566 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 ส.ค.2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 18 ส.ค.2566 ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2565 บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.11 บาท หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.14 บาทต่อหุ้น จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.25 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 61% ของผลกำไรสุทธิ (Payout ratio)

 

ที่มา: https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000050470 

วันที่ 03 มิถุนายน 2566