บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง (Blue Ocean Plastic Recycling) สตาร์ตอัปด้านการจัดเก็บและรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลเดินหน้าโครงการรีไซเคิลที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนบนเกาะสมุย เพื่อต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเลและตามแนวชายฝั่งควบคู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของชุมชนและธุรกิจในท้องถิ่น
โครงการนี้ทำงานร่วมกับพันธมิตร ไทด์ โอเชียน แมทีเรียล (Tide Ocean Material) เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกที่มีการจัดเก็บมาเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน (sustainability-certified recycled plastic) ซึ่งนำไปใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท และสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อติดตามประวัติของผลิตภัณฑ์ได้ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เริ่มตั้งแต่คนเก็บขยะ คนรวบรวมขยะ ไปจนถึงบริษัทหรือแบรนด์ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
ทั้งนี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ระบุว่า กระบวนการทั้งหมดควรได้รับการรับรองและตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นบุคคลที่ 3 เช่นเดียวกับโครงการที่เราได้ดำเนินไปแล้วในจังหวัดระนอง เพื่อให้มั่นใจว่าพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้นั้นมาจากการจัดเก็บขยะพลาสติกตามแนวทางที่ยั่งยืนและก่อเกิดเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชนโดยตรง
ดร. มิเชล พาร์โดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ขึ้นในปี 2565 กล่าวว่า “โครงการรีไซเคิลแบบดั้งเดิมมักมองข้ามประเด็นของชุมชนและความโปร่งใส เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อติดตามขยะพลาสติกหลังจากถูกขายให้กับโรงงานรีไซเคิล”
“บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง และพันธมิตรได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนการ โดยเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บขยะไปจนถึงการเปลี่ยนเป็นพลาสติกรีไซเคิล ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นทาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ยั่งยืนในระยะยาว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงานของโครงการ แสดงความเห็นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จุดรวบรวมขยะในโรงเรียนและที่ตั้งของศูนย์รับขยะรอบเกาะ และตระหนักว่า บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง จะส่งมอบประโยชน์เชิงเศรษฐกิจโดยตรงต่อชุมชนได้อย่างไร” ดร. มิเชล กล่าว
บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของ โครงการวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดระนอง (Ranong Recycle for Environment) ที่ได้รับการรับรองด้านขยะพลาสติกในทะเลจาก Ocean Bound Plastic และทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นชาวมอแกนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับท้องทะเล
เซคเคินด์มิวส์ (SecondMuse) ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกและนวัตกรรม ระบุว่า โครงการในจังหวัดระนอง เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ในการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้านของชุมชนต่างๆ บนเกาะสมุย
นางสาวซาราห์ ฟาน บูคเคาท์ ผู้จัดการโครงการเซคเคินด์มิวส์ กล่าวว่า “โครงการวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง เป็นโมเดลที่แปลกใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางในภาคใต้ของไทย และการลดจำนวนพลาสติกที่รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อม เราประทับใจมากที่โครงการนี้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน โดยสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้จัดเก็บขยะในห่วงโซ่อุปทานของพลาสติกรีไซเคิลแบบองค์รวม และเมื่อบลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง เสนอแผนงานการขยายโครงการสู่เกาะสมุย เราจึงรู้สึกยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน”
ระหว่างปี 2562-2565 สมาชิกเก็บขยะของวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ได้เก็บขยะในทะเลและนำมารีไซเคิลแล้วเป็นจำนวนกว่า 422 ตัน โดยกว่า 70% ของกำไรจากการดำเนินโครงการได้รับการส่งมอบกลับคืนสู่ชุมชนในรูปแบบของโครงการด้านการศึกษาตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงสวัสดิการทางสังคมของคนงาน
นอกจากนี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ยังมุ่งมั่นลดความเชื่อผิด ๆ ทางสังคมเกี่ยวกับคนเก็บขยะนอกระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 750,000 – 1.5 ล้านคนในประเทศไทย “คนเก็บขยะนอกระบบมักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรกและไม่เป็นที่ต้องการ เราต้องการจะเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวและแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืนให้แก่ทุกคนในประเทศไทย” ดร.มิเชล กล่าว
นายอนุศิษย์ ศรีษะย์ อายุ 29 ปี เป็นคนรับซื้อขยะจากโครงการเพื่อนำไปรีไซเคิล กล่าวว่า “เทียบกับโครงการอื่น ๆ ที่เคยเข้าร่วมก่อนหน้านี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากที่สุดและแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทต่อชุมชน”
“หลังจากเข้าร่วมโครงการ ผมมีมุมมองที่กว้างขึ้นต่อสิ่งที่ทำอยู่ ผมอยากเรียนและใช้ภาษาอังกฤษให้เก่งขึ้นและอยากเป็นคนซื้อขายพลาสติกหรือขยะระดับอินเตอร์ฯ”
ทั้งนี้ พลาสติกรีไซเคิลจากโครงการสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าคุณภาพสูง เช่น นาฬิกาข้อมือ รุ่น AIKON #tide ของ Maurice Lacroix ซึ่งสินค้าในลักษณะนี้ยังช่วยลดความเชื่อผิด ๆ ทางสังคมได้เช่นกัน
นางสาวกสิณี มะเย็ง และนายมูฮัมหมัด ผดุง สองสามีภรรยาที่รวบรวมขยะให้กับโครงการ กล่าวถึงศักยภาพของโครงการว่า “ตอนแรกเราขาดทุน เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องการแยกขยะ แต่เราเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกครั้งที่ซื้อขยะจากชุมชน หรือเอาขยะมาขายให้ร้านรีไซเคิล สุดท้ายนี่จะกลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ของเรา”
บริษัทต่าง ๆ ที่สนใจสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของบลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ได้ด้วยการรับซื้อสินค้าจากทางโครงการหรือให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของคลังเก็บขยะ จุดรวบรวมขยะ และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจะได้รับพลาสติกเครดิตเพื่อหักกับปริมาณพลาสติกฟุตปรินท์ของบริษัท
วัตถุประสงค์การดำเนินงานของ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ของรัฐบาลไทย ซึ่งตั้งเป้ารีไซเคิลหรือเปลี่ยนเส้นทางขยะที่เข้าสู่บ่อฝังกลบให้ได้ 100% และลดปริมาณขยะที่มีโอกาสรั่วไหลลงสู่ทะเลให้ได้ 50% ภายในปี 2570
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000031602