BRR ปี 66 ตอกย้ำ!! ทุกธุรกิจโตไม่ยั้ง ชู Wood Pellet ฮอต โกยรายได้ Q3 ปีนี้ เดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve เป้า 5 ปีรายได้แตะ 1 หมื่นลบ.

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR ประเมินแนวโน้มปีนี้สดใสต่อเนื่อง หนุนทั้งปี 66 ผลงานขยายตัวจากปีที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve ตอกย้ำ!!! สู่ความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชูโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) สุดฮอต เป็นที่ต้องการของญี่ปุ่นพร้อมลงทุนเพิ่ม รับเจรจานักลงทุน และเร่งขอสัมปทาน ส่วนเฟสแรกปลูกป่า 4 หมื่นไร่ ในสปป.ลาวผลิต 1 แสนตัน ญี่ปุ่นเซ็นเหมาซื้อระยะยาว 15 ปี เริ่มโกยรายได้ไตรมาส 3 ปีนี้ ล่าสุดออกวอแรนต์ 2 ชุด คือ BRR-W1 และ BRR-W2 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับโครงการลงทุนในอนาคต พร้อมตั้งธงแผน 5 ปี (2566-2570) รายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาท

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ปี 2566 บริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตจากศักยภาพของทุกกลุ่มธุรกิจ สนับสนุนผลงานในปีนี้เชื่อว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve ที่เน้นความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัว โดยแนวโน้มธุรกิจน้ำตาลในปี 2566 ราคายังอยู่ในทิศทางที่ดี ปัจจุบันราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นมาราว 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการขายล่วงหน้าไปแล้ว 90% ของปริมาณการขายทั้งหมด ในราคาที่ค่อนข้างดี เมื่อรวมพรีเมียมต่างๆ จะเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 20.50 เซนต์ต่อปอนด์ อีกทั้งได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท ที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 33.50-35.50 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งออกน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 80% รวมทั้งรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยขยายตัวมากขึ้น

ด้านความคืบหน้าโครงการ Wood Pellet ในสปป.ลาว ที่ BRR ได้ร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างราช กรุ๊ป และพันธมิตรจากทางญี่ปุ่นจัดตั้งบริษัทร่วมกัน ในนามบริษัท สีพันดอน - ราชลาว จำกัด มีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปีนั้น บริษัทมีสัญญาจองซื้อระยะยาว 15 ปี จากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ที่ราคาเฉลี่ย 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน คิดเป็นรายได้มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 590 ล้านบาท โดยขณะนี้การก่อสร้างโรงงานและนำเข้าเครื่องดำเนินการไป 59% แล้ว คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2566 นี้ตามแผน

ด้านกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20% และคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ 250-300 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 90%

โดยปีนี้บริษัทมีการออกวอร์แรนต์ 2 ชุด คือ BRR-W1 จำนวนไม่เกิน 162,419,969 หน่วย ให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (ซึ่งไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ และกำหนดราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิเท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น อายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ 6 เดือน กำหนดใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 28 เม.ย.2566 นี้ และกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สำหรับ BRR-W1 บริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งด้านราคาและปริมาณจำหน่าย

และ BRR-W2 จำนวนไม่เกิน 81,209,984 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (ซึ่งไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ และกำหนดราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิเท่ากับ 13.00 บาทต่อหุ้น อายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปี กำหนดใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 30 มิ.ย.2566 นี้ และกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 13 ก.พ. 2569 สำหรับ BRR-W2 บริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมของบริษัทในอนาคต อาทิ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และธุรกิจ Wood Pellet ซึ่งการออก BRR-W2 จะสอดคล้องกับแผนการลงทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ที่ได้วางแผนการลงทุนไว้ที่ 510 ล้านบาท โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าสู่เป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ส่วนการจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เพื่อปล่อยสินเชื่อ ปัจจุบันให้วงสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เกี๊ยวอ้อย) แล้ว 300 ล้านบาท และภายในเดือนมีนาคมนี้ จะขยายตู้น้ำมันไปถึง 100 ตู้ รอบเขตพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อย ในจ.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ เช่น ประกันภัย เป็นต้น ผ่านเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 20,000 ครัวเรือน และมีรถบรรทุกที่พร้อมจะนำมาทำสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกประมาณ 2,500 คัน รวมทั้งการดึงร้านค้าซิงเกอร์มาเปิดในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงาน และเขตพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อย ภายในจ.บุรีรัมย์ คาดจะขยายต่อเนื่องไปจังหวัดใกล้เคียงต่อไป ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน ดังนั้น สิ่งที่ BRR จะได้นอกจากมาร์จิ้นจากค่าบริหารจัดการแล้ว เมื่อกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายมีเงินทุนต้นทุนต่ำ เกษตรกรก็จะนำไปพัฒนาปรับปรุงการผลิต ทำให้ผลผลิตอ้อยมีคุณภาพสูงและส่งให้แก่โรงงานได้เพิ่มขึ้น เป็นผลพลอยได้ที่จะตามมา โดยจะเป็นอีกสตอรี่เชิงบวกที่จะมาหนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของ BRR ในระยะยาว

โดย BRR มีแผนการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์มีโนฮาวด้านต่างๆ และเพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจน้ำตาล บริษัทได้แตกไลน์ในการพัฒนาธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มรายได้ทำให้ BRR เติบโตอย่างยั่งยืน และลดความเสี่ยงการสวิงของธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กลุ่มธุรกิจ BRR จะเน้นการทำธุรกิจรักษ์โลก และต่อยอดธุรกิจคาร์บอนเครดิตต่อไป

 

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/prg/3407972 

วันที่ 21 มีนาคม 2566