ENVIRONMENT: หรือพลาสติกย่อยสลายได้ จะไม่ใช่ทางออก? เมื่อออสเตรเลียมีแผนแบนพลาสติกย่อยได้ เพราะวิธีการบางส่วนอาจดีไม่จริง
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
.
ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและปริมาณพลาสติกมหาศาลทั้งบนบกและท้องทะเล ทำให้ปัจจุบันนานาชาติเริ่มวางมาตรการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก และพลาสติกใช้แล้วทิ้งในหลายประเทศทั่วโลก แต่นอกเหนือจากการยกเลิกการใช้แล้ว ทางแก้ไขอีกทางคือใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) และพลาสติกที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย (Compostable Plastic)
.
แต่ล่าสุดเกิดคำถามขึ้นมาว่าพลาสติกย่อยได้อาจไม่ใช่ทางออกอย่างแท้จริง…
.
เรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย เมื่อรัฐบาลเปิดแผนแห่งชาติเพื่อ “แบน” การใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2022 ด้วยสาเหตุว่าไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและระยะเวลาในการย่อยสลายตามที่กล่าวอ้างไว้
.
แผนการนี้สวนทางกับประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะหลายชาติเร่งการยกเลิกใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมและเลือกจะซบอกพลาสติกย่อยสลายได้มากขึ้น เช่นในประเทศจีน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ แต่กลายเป็นว่าการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้อาจไม่ได้ดีกว่าพลาสติกปิโตรเลียมมากมายนัก
.
ปัญหาหลักเกิดขึ้นจากความคลุมเครือในการกำหนดว่ามันต้องใช้เวลาย่อยสลายนานแค่ไหน และไม่ได้มีข้อบังคับเรื่องส่วนประกอบมันอาจทำจากปิโตรเลียมแบบย่อยสลายได้ หรือพลาสติกที่เร่งให้เกิดการแตกตัวเร็วขึ้นด้วยสาร Oxo แต่ยังก่อให้เกิดไมโครพลาสติกได้เช่นกัน และแม้ว่ามันจะมีการผสมสารอินทรีย์จากพืชต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มีการรับประกันว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ เมื่อมันสลายไป
.
ที่พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะสลายตัวย่อยได้ตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น สภาพแวดล้อม ถ้าหากมันไม่ได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม การย่อยอาจยืดระยะเวลาออกไปอีกจนในท้ายที่สุดแล้ว พลาสติกเหล่านั้นก็จะถูกฝังกลบหรือทิ้งลงในมหาสมุทรตามเดิม
.
อย่างไรก็ดีทางรัฐบาลออสเตรเลียยังไม่ได้มีแผนที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ (Compostable Plastic) แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะการจะย่อยพลาสติกลักษณะนี้ต้องการระบบจัดการที่ดี โดยต้องใช้ถังหมัก หรือย่อยในโรงงานที่มีความร้อนสูง ดังนั้นมันไม่สามารถย่อยได้ในสนามหญ้าหลังบ้านอย่างที่หลายคนคาดหวังหรือเข้าใจว่ามันสามารถฝังได้เลย
.
ในกรณีนั้นอาจเป็นเรื่องแย่ยิ่งกว่าพลาสติกทั่วๆ ไปเพราะเมื่อมันถูกฝังในหลุมอย่างผิดวิธีมันจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเช่นเดียวกับขยะประเภทอาหาร ซึ่งก๊าซมีเทนก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก
.
ดังนั้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอาจไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าอย่างการยกเลิกตัดขาดกับพลาสติกน่าจะเป็นสิ่งที่เห็นผลในรูปธรรมมากกว่าพลาสติกทดแทนที่ยังไม่มีมาตรฐานมากนัก รวมถึงรัฐควรให้การสนับสนุนเรื่องการรีไซเคิลให้มากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพียงแค่ 9% เท่านั้น พลาสติกส่วนใหญ่ยังคงถูกฝังกลบและทิ้งลงมหาสมุทรอยู่
 
อ้างอิง: Treehugger. Australia Is Smart to Ban Biodegradable Plastics. https://bit.ly/3d4xlqt
 
The conversation. A type of ‘biodegradable’ plastic will soon be phased out in Australia. That’ s a big win for the environment. https://bit.ly/2RmemPG
 
UTS. ‘Biodegradable’ plastic will soon be banned in Australia. https://bit.ly/3uAD5Op
 
วันที่ 19 พฤษภาคม 2564