เปิดแนวคิด “ศุภพงศ์ สอนสังข์” นักออกแบบสุด “เจิด” ผู้สร้างสรรค์ขยะสู่สินค้ามีสไตล์ ปลุกจิตสำนึกให้สังคมในโครงการ Upcycling Upstyling ของ GC

ปัจจุบันคงไม่ต้องถามแล้วว่าปัญหาการแก้ไขปัญหา Climate Change นั้นสำคัญแค่ไหน เพราะทั่วโลกนั้นเห็นตรงกันแล้วว่าหากไม่เริ่ม “เปลี่ยนแปลง” ในวันนี้ โลกอาจเดินหน้าไปสู่ “ความล่มสลาย” ของมนุษยชาติอย่างแน่นอน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ก็คือการจัดการกับขยะพลาสติกนำมา Upcycling หรือนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่เพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น และเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกในธรรมชาติไปพร้อมๆกัน

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ Upcycling Upstlying ของ GC ที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำไม่ว่าจะเป็นแบรนด์, นักออกแบบ, ผู้ผลิต เรื่อยไปจนถึงผู้บริโภค เกิดเป็นโครงการที่นำเอานักออกแบบ แบรนด์ และผู้ผลิต มาจับมือกันผลิตสินค้าจากขยะพลาสติกให้เป็นสินค้าที่น่าสนใจและนำออกขายจริงให้กับผู้บริโภคด้วย

คุณศุภพงศ์ สอนสังข์ จาก “เจิด Design Gallery” นักออกแบบที่เคยมีผลงานระดับสากลแต่ผันตัวมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากป่าปลูกเอง ก็เป็นหนึ่งในนักออกแบบหลายคนที่เข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ที่เดินหน้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้วและได้รับโจทย์จากแบรนด์ในการใช้วัสดุจากขยะพลาสติกมาผลิตเป็นชิ้นงาน 2 ชิ้นด้วยกันหนึ่งในนั้นคือ Half ผลงานถังขยะจากไม้เทียม Wood Composite ที่ในหนึ่งชิ้นงานมีปริมาณเทียบเท่ากับถุงพลาสติก 1,294 ถุง เลยทีเดียว

Design ที่ซ่อนอยู่ใน Detail ลดขยะซ้ำซ้อน

โจทย์ของชิ้นงาน Half นั้นมาจาก “ธนาคารกสิกรไทย” ที่ต้องการถังขยะที่จะใช้ใน Green Building อาคารแห่งใหม่ในสยามสแควร์ และในพื้นที่ของสยามสแควร์เอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม

ซึ่งคุณศุภพงศ์ เล่าว่า ถังขยะนั้นจะผลิตขึ้นจากวัสดุไม้เทียมที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลผลิตโดยบริษัท MBJ และได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตชิ้นงานนี้ให้เหลือเศษวัสดุทิ้งให้น้อยที่สุด ไม่ให้กลับเป็นเป็นขยะรอบที่ 2 ดังนั้นจึงมีการซ่อนแนวคิดให้อยู่ในงานประกอบทั้งหมด เช่นการตัดสลับแบบไม่เสียเศษ การนำไม้ท่อนมาต่อกันเป็น 8 เหลี่ยมเพื่อทำแผ่นไม้วงกลมที่มีรูตรงกลาง รวมไปถึงการใช้เส้นโค้งและเส้นตัดทแยงมาช่วย ซึ่งการออกแบบให้ผลิตออกมาสูญเสียเนื้อไม้น้อยที่สุดนำไปสู่ชื่อผลงาน Half ที่หมายถึงการใช้วัสดุที่ลดลงครึ่งหนึ่งจากที่ควรจะเป็น

“พอเรามาชั่งน้ำหนักหลังจาก Finishing ชิ้นงานเสร็จนั้น น้ำหนักหายไปแค่ 10% ซึ่งก็นับว่าตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainable ในกระบวนการผลิตที่นับเป็นความสำเร็จ ซึ่งสิ่งนี้ก็ไปบีบทำให้ดีไซน์รูปร่างหน้าตาของ Half นั้นหวือหวาไปกว่านี้ไม่ได้” คุณศุภพงศ์ เล่า

ไม้เทียมจากขยะพลาสติกใกล้เคียงกับการใช้ไม้จริง

สำหรับความแตกต่างของการใช้ไม้จริงกับไม้เทียมนั้น คุณศุภพงศ์ เล่าว่ามีความใกล้เคียงกันมากแต่อาจมีข้อเสียเล็กน้อยเรื่องการกินคมเลื่อยเร็วกว่าไม้จริง แต่ในส่วนอื่นๆรวมถึงต้นทุนการผลิต รวมไปถึงค่าแรงนั้นเท่ากันกับไม้จริงทุกอย่าง ส่วนราคาวัสดุก็ขึ้นอยู่กับว่าไม้จริงที่ใช้เดิมมีราคาถูกหรือแพง ซึ่งจากนี้จะมีการหาโรงงานผลิตที่เป็น Mass Product รับช่วงต่อเพราะเราเป็น studio ออกแบบ หลังจากนี้การผลิตก็จะง่ายและถูกลงกว่านี้มาก

คุณศุภพงศ์ ยังระบุด้วยว่าการได้มีส่วนร่วมกับโครงการใน 2 ปีที่ผ่านมา และการผลิตชิ้นงาน Half ในปีนี้นับว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้แบ่งปัน Know-How ในงานไม้และผลงานจากไม้เทียมก็ยังเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าวัสดุจากขยะพลาสติกก็สามารถสร้างงานดีไซน์ที่สวยงามและใช้ได้จริงด้วย

Moss Living & Paksi

นอกจากงานไม้ที่คุณศุภพงศ์ ถนัดแล้วในปีนี้ยังได้ขยับมาออกแบบงานในหมวดหมู่ Textile ด้วย กับผลงานที่มีชื่อว่า Moss Living & Paksi พรมและโคมไฟที่ผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล และเส้นไยที่เหลือเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตพรม โดยแบรนด์เจ้าของโจทย์ที่จะนำสินค้าไปวางขายก็คือแบรนด์ UP TO YOU แบรนด์สินค้า Upcycling น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ขณะที่ Converter ที่ทำหน้าที่ผลิตในครั้งนี้ก็คือ The Carpet Maker ผู้ผลิตพรมชั้นนำของไทยที่ก็เคยร่วมมือกับ GC ผลิตนวัตกรรมเส้นใย MONSILK เส้นใย Upcycling จากขวดพลาสติกมาแล้วด้วย

คุณศุภพงศ์ พูดถึงโจทย์สำหรับชิ้นงานชิ้นนี้มาจากทางแบรนด์ UP TO YOU ในการผลิตสินค้าสำหรับ Outdoor หรือ Indoor Living ก็เลยเป็นที่มาของสินค้าพรมที่มีฟังก์ชั่นหลากหลายสามารถใช้กับกิจกรรมออกแคมป์ที่กำลังได้รับความนิยมในเวลานี้

“พรมตัวนี้ก็มีฟังก์ชั่นหลายอย่าง เป็นเบาะรองนอนก็ได้ วางนั่งหน้าเต็นท์ได้ แคมป์ปิ้งได้ นอกจากนี้ผมยังขยับมาทำ พรมขนาดเล็กหรือ “ยานลูก” ที่สามารถถอดออกมาจาก “ยานแม่” ได้ สามารถเอาไปวางที่ขอนไม้เวลานั่งปิกนิก ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของชื่อผลงานอย่าง Moss Living เหมือนกับมอสที่เกาะบนขอนไม้นั่นเอง” คุณศุภพงศ์เล่า

ทดลองไอเดียกับโคมไฟ Paksi

คุณศุภพงศ์ ยังเล่าถึงอีกชิ้นงานที่เป็นการได้ลองไอเดียใหม่ๆที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนด้วยนั่นก็คือผลงาน Paksi โคมไฟที่ผลิตจากพรมที่ปักเส้นใย 2 ด้านที่ยังไม่เคยเห็นในตลาดมาก่อน โดยคุณศุภพงศ์ ระบุว่าทาง The Carpet Maker ผู้ผลิตพรมชั้นนำที่ร่วมทีมในฐานะConverter ก็ให้โอกาสเต็มที่กับการทดลอง เลยขยับมาทดลองไอเดียที่อยากลองทำเองก็คือตัว “โคมไฟ” ที่มีเทคนิคที่ไม่มีใครเคยทำนั่นก็คือการปักพรม 2 ด้านที่สามารถพับให้ลายต่อเนื่องกันในอีกด้านหนึ่ง ออกมาเป็นผลงาน Paksi ที่คุณศุภพงศ์วางคอนเซ็ปต์ให้เป็นฝูงบินของนกหลากหลายชนิดลูกค้าสามารถนำไปฟิตติ้งกับตัวโคมทั่วไปที่มีขายในท้องตลาดได้

สำหรับวัสดุที่ใช้คุณศุภพงศ์เล่าว่าใช้เส้นใยจากขวดพลาสติกมาใช้ในการผลิตผลงาน ผสมกับการใช้เส้นใยที่เหลือจากกระบวนการผลิตของ Carpet Maker ซึ่งการใช้วัสดุ Upcycling เหล่านี้ก็ตอบโจทย์การเล่นสีของนกในธรรมชาติที่จะไม่เหมือนกันได้เลย

สำหรับโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์นั้น คุณศุภพงศ์ มองว่าสนใจที่จะนำสินค้าในส่วนของ Lighting นี้ไปต่อยอดกับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องมีการใช้การจัดแสงไฟ แต่ชิ้นงานนี้ก็ต้องมีการพัฒนาเชิงเทคนิครวมถึงเรื่องของลวดลายและสีของตัวสินค้าต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางแบรนด์ UP TO YOU จะนำออกจัดจำหน่ายในช่องทางของแบรนด์ก่อน

Upcycling สู่มาตรฐานของการสร้างสรรค์

คุณศุภพงศ์ เล่าถึงประโยชน์ที่ได้เข้าร่วมโครงการกับทาง GC ติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปีแล้วว่าเหมือนกับเป็นสนามการเรียนรู้โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ได้ทำงานข้ามสายงานจากงานไม้มาในเรื่องของ Textile เลยได้เรียนรู้เทคนิค คำศัพท์ต่างๆและ Knowhow ของการผลิตงานพรมมาด้วย นอกจากนี้ยังมองว่าทุกบริษัทที่มาเข้าร่วมมีเจตจำนงตรงกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมและ ของแถมก็คือการได้เจอกับคนในวงการทำสายงานเดียวกันเป็นการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรให้เพิ่มขึ้น

ในเรื่องของความยั่งยืนนั้น คุณศุภพงศ์มองว่าวันหนึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานของทุกๆบริษัทในการทำงานสร้างสรรค์ทุกอย่างก็ต้องเอามุมนี้เข้าไปใส่ เช่นนอกจากจะมีประโยชน์ใช้สอย มีความสวยงามแล้ว อีกสิ่งที่ต้องมีก็คือเรื่องของ ความยั่งยืน

“มันจะกลายเป็นเงื่อนไขหลักของงานสร้างสรรค์ในทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว หากใครไม่ทำก็จะแข่งขันไม่ได้ เพราะจะตอบสังคมไม่ได้ว่าบริษัทได้มีส่วนช่วยโลกอย่างไร ตอนนี้กลุ่มบริษัทผู้นำก็ได้เริ่มกันไปแล้ว ก็กำลังรออีกครึ่งกระดานให้พลิกตามมาทำในเรื่องนี้” คุณศุภพงศ์ ระบุ

นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังผลงาน Half และ Moss Living & Paksi ของคุณศุภพงศ์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้มือฉมังในโครงการ Upcycling Upstyling ของ GC ในครั้งนี้โดยผลงาน Half นั้นจะมีการนำไปผลิตใช้งานจริงในพื้นที่สยามสแควร์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการ Upcycling ให้มากขึ้น ขณะที่ผลงานพรมและโคมไฟอย่าง Moss Living & Paksi นั้นจะมีจัดจำหน่ายในช่องทางต่างๆของแบรนด์ UP TO YOU ทาง Facebook Instagram หรือ Line My Shop ที่ uptoyou.upcycling หรือเว็บไซต์ uptoyou.live ที่สามารถเข้าไปซื้อหากันได้

ผลงานทั้งสองชิ้นของคุณศุภพงศ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการลดขยะพลาสติกในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นได้จริงหากเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีส่วนช่วยสำคัญไม่ใช่แค่การซื้อสินค้าเท่านั้น แต่คือการแยกขยะให้ถูกต้องเพื่อให้พลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกลับมาเป็นสินค้าที่สวยงามและมีสไตล์ เรียกได้ว่าเป็นการตัดวงจรพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ยังคงปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติทุกวันให้ลดน้อยลง และช่วยแก้ปัญหา Climate Change ปัญหาระดับโลกให้บรรเทาเบาบางลงต่อไป

 

ที่มา: https://www.marketingoops.com/news/biz-news/gc-upcycling-upstyling-jird-design-gallery/ 

วันที่ 20 ธันวาคม 2565