เอสซีจี เคมิคอลส์ เดินหน้าขับเคลื่อน ESG ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรมตอบโจทย์ภาวะโลกร้อน เพื่อโลกยั่งยืน โชว์ 5 ไฮไลท์นวัตกรรมพลาสติก
นี่คือช่วงเวลาที่สมดุลทางธรรมชาติอาจสูญเสียอย่างไม่มีวันหวนกลับ วิกฤตน้ำท่วมในไทยปีนี้ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความแปรปรวนของฝนบวกกับมีพายุ และหากย้อนมองเหตุการณ์ไฟป่าที่ จ.เชียงใหม่เมื่อมีนาคม 2563 ที่รุนแรงกว่าทุกปี จนทำให้ค่ามลพิษในอากาศ พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากฤดูแล้งที่มาเร็วและยาวนานกว่าปีก่อน ๆ ชัดเจนว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เกิดขึ้นแล้วและกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ
๐ ภาคธุรกิจเร่งเดินหน้า สู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สัญญาณเตือนภัยระดับ “สีแดง” ของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำให้ประเทศทั่วโลกเร่งขับเคลื่อน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีภารกิจในการผลักดันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สู่ทิศทางการพัฒนาประชาคมโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ขณะเดียวกัน “แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” หรือ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการอยู่ในหลักธรรมาภิบาล ก็ได้รับการตอบสนองจากองค์กรภาคธุรกิจที่ไม่ได้มองเพียงผลตอบแทน แต่ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีบรรษัทภิบาลที่ดี
“เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้นำแนวทาง SDGs และ ESG มาเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า โซลูชัน รวมทั้งการนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทำให้ใช้พลังงานในกระบวนการผลิตน้อยลง นอกจากนี้ ยังขยายธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามทิศทาง ‘ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน’ โดยเร่งวิจัยพัฒนา นวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พัฒนาโซลูชันที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรณรงค์การจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง” ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน
๐ นวัตกรรมพลาสติก ตอบโจทย์ลดโลกร้อน
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1959 หนึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือ ถุงหูหิ้วพลาสติก ซึ่งถูกคิดค้นมาเพื่อทดแทนการใช้ถุงกระดาษ ที่ต้องตัดต้นไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบ และถุงผ้า ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงในกระบวนการผลิตต่อใบ
แน่นอนว่า หลังจากกำเนิดพลาสติกขึ้นมาแล้ว พลาสติกได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสะดวกสบาย ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คน และถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พฤติกรรมการใช้พลาสติก และการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการพลาสติกอย่าง เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงเดินหน้าผลักดันนวัตกรรมลดโลกร้อน โดยมี 5 ไฮไลต์ดังนี้
นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG GREEN POLYMERTM) พัฒนาสูตรให้แบรนด์สินค้าสามารถเพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ได้ตั้งแต่ 25-100% ตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำพลาสติกใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป นอกจากนี้ ยังช่วยลดการเผาขยะเพื่อกำจัดอีกด้วย
SMXTM Technology เทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ชั้นสูง โดยมีแนวคิดการออกแบบเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เม็ดพลาสติก HDPE มีคุณภาพสูง ทั้งด้านความแข็งแรง และความเหนียวแน่น เมื่อนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผู้ผลิตจึงใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกน้อยลง ส่งผลให้ใช้พลังงานในการกระบวนการผลิตลดลง นอกจากนี้ ยังทำให้สินค้าปลายทางมีน้ำหนักเบาลงด้วย จึงช่วยลดการใช้พลังงานในการขนส่งอีกต่อหนึ่ง
SCG Floating Solar Solutions นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นผิวน้ำ หรือที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ’ เพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาด สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในระดับกลางจนถึงระดับใหญ่ มีจุดเด่นที่การออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยตัวทุ่นผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษที่มี UV stabilizer ทนทานต่อแสงแดด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำกว่า 34 โครงการ สามารถสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้า รวมถึง 37.9 เมกะวัตต์ (MWp) ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 26,530 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 18,192 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564)
โมเดลการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ซึ่งต่อยอดจาก ‘บางซื่อโมเดล’ โมเดลการจัดการขยะภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ มาสู่การบริหารจัดการขยะในชุมชน จ.ระยอง ขับเคลื่อนผ่าน “บ-ว-ร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อน Eco Community และเชื่อมต่อกับ “ธนาคารขยะชุมชน” เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการช่วงต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2564) สามารถนำขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 166 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 125 ตัน
AI Supervisory for Energy Analytics การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำมาใช้ตรวจสอบการทำงานที่ผิดปกติของเครื่องจักร ทำให้สามารถคาดการณ์ความผิดปกติได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยง และสามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ สามารถลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต และไม่สูญเสียพลังงานโดยไม่เกิดประโยชน์ จากการทดสอบติดตั้งเทคโนโลยีในหน่วยการผลิตย่อย สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 19,430 กิกะจูลต่อปี หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 806 ตันต่อปี
แม้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยยังต้องใช้เวลาขับเคลื่อน แต่สิ่งสำคัญคือการร่วมแรงร่วมใจและเริ่มลงมือปรับเปลี่ยน พร้อมสร้างสรรค์แนวทางที่จะช่วยรักษาสมดุลของโลกใบนี้ และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจากเอสซีจี เคมิคอลส์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตามความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คน ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG และ SDGs อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000110121