วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยสู่ยุคเกษตร 4.0 โดย วช.

การยกระดับเกษตรกรไทย เพื่อรองรับการเป็นเกษตรยุค 4.0 เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรก้าวข้ามความยากจน และเพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด เห็นแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมคนรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อทำเกษตร งานวิจัยและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเกษตรกรยุคใหม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีรองรับการก้าวเข้าสู่เกษตรกรยุค 4.0

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การดำเนินงานด้านงานวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้วางกรอบแนวทางบริหารจัดการทุน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่นำไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาในด้านต่าง ๆ เกิดเป็นนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ทัั้งในมิติของนวัตกรรม และวิชาการ

ผลงานนวัตกรรมเพื่อเกษตรกรยุค 4.0

โดยหนึ่งในนั้นเป็นผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่ทางสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ยืดอายุ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ส่งออกต่างประเทศ การยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สามารถเก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถนำมำใช้แทนการขนส่งทางเรือได้ และผลผลิตมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง พร้อมทั้งต้นทุนการขนส่งที่ลดลง ซึ่งมีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายากและมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ยืดอายุทุเรียนเพื่อการส่งออก กล่องที่บรรจุทุเรียนบรรจุสารดูดซับก๊าซเอททิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง และพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่องวิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพูจากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน เพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ดังนั้น จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง

ส่งเสริมการปลูกองุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสแคท” เกรดพรีเมี่ยม การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูกและการดูแลทั้งการตัดแต่งกิ่ง การควบคุมทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยและน้ำ การตัดแต่งช่อไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว รวมทั้งงานวิจัยการเข้าทำลายและป้องกันกำจัดโรค การเข้าทำลายและป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ไปจนถึงการจัดการผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว และการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำการตลาด และจัดการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ธนาคารปูม้าชุมชน เพื่อความยั่งยืน โครงการธนาคารปูม้า เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยมอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้ามาให้การสนับสนุน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จัดการส่งเสริมองค์ความรู้ แก่พี่น้องประชาชน แถบชายฝั่งทะเลทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินโครงการในระยะแรกประสบความสำเร็จ ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรปูม้า และช่วยกันฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเล

วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” ไก่พื้นเมืองลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ การพัฒนาสายพันธุ์ไก่ที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในระดับวิสาหกิจชุมชนและขยายฐานการเลี้ยงครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้และทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในอนาคต การพัฒนาสมาร์ทแพลตฟอร์มสำหรับห่วงโซ่อุปทานไก่พื้นเมือง เพื่อให้ผู้ค้าและผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้อย่างถูกต้องและสร้างการรับรู้การบริโภคไก่พื้นเมืองเป็นวงกว้าง สร้างเส้นทางการตลาดไก่ลิกอร์ที่ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการกลุ่มการเลี้ยงไก่ลิกอร์อย่างยั่งยืน และยกระดับการผลิตไก่ลิกอร์สู่การตลาดเชิงพาณิชย์

มังคุดวิจัย ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจเดินหน้า ไปสู่ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีหลักคิด คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และ เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ด้วยการเพิ่มมูลค่ามังคุดด้วยการวิจัยและพัฒนา “มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้บุคลากรด่านหน้า” เพื่อช่วยแก้ปัญหามังคุดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ในการแปรรูป

งานวิจัยนวัตกรรมรับมือโควิด-19

นอกจากงานวิจัยด้านการเกษตร วช. ยังมีงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ เป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงงานวิจัยทางการแพทย์ต่าง ๆ ในรูปแบบสื่อ Infographic เพื่อถ่ายทอดข้อมูลความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน ได้รู้เท่าทันสถานการณ์COVID-19 ด้วยข้อมูลที่รวดเร็ว ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ ประกอบด้วย สถานการณ์รายวัน งานวิจัยและนวัตกรรม COVID-19 ข้อแนะนำประชาชน และข้อมูลวิเคราะห์ทางวิชาการ

ชุดหน้ากาก PAPR ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง คุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ ราคาประหยัด ต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 9,800 บาท (ราคานำเข้าจากต่างประเทศชุดละ 40,000 บาท) ส่งมอบให้เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

mRNA Vaccine วัคซีน ChulaCov19 เป็นชนิด mRNA สร้างจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส COVID-19 เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ กว่า 100 ล้านโดส ผ่านการทดลองในลิงและหนูแล้ว พบว่าลดอาการเจ็บป่วยได้ 100% และลดจำนวนเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกและปอดได้มากกว่า 10,000,000 เท่า ทีมนักวิจัยคาดว่าจะสำเร็จและนำใช้ได้ในเดือนเมษายน 2565

เครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ ผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สามารถกำจัดไวรัสแบคทีเรีย เชื้อรา และสปอร์ของเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำจัดได้ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุ มี 2 รุ่น คือ สำหรับฆ่าเชื้อโรคในห้องขนาดใหญ่ และสำหรับฆ่าเชื้อโรคในตู้ฆ่าเชื้อแบบปิด ส่งมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งมอบให้ศูนย์บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลและหน่วยงานส่วนหน้า มากกว่า 140 เครื่อง

นวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เข็นขึ้นรถอุบัติเหตุฉุกเฉินหรือรถพยาบาลได้ ระบบกรองอากาศที่ใช้ในเตียงความดันลบจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถประกอบอยู่ในเตียงได้โดยไม่ต้องแยกออกจากเตียง มีการไหลเวียนอากาศถึง 15 ครั้งต่อชั่วโมง ได้นำไปติดตั้งให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล

เครื่องฟอกอากาศผลิตออกซิเจนบวก-ลบ เทคโนโลยีที่ใช้การปล่อยประจุไอออน 2 ชนิด คือออกซิเจนบวก และออกซิเจนลบ เพื่อทำปฏิกิริยากับเซลล์หรืออนุภาคต่าง ๆ ของไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ ทำให้อากาศบริสุทธิ์สะอาดป้องกันเชื้อโรค ส่งมอบให้ศูนย์บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลและหน่วยงานส่วนหน้า มากกว่า 140 เครื่อง

ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ควบคุมเชื้อโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดได้ มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ พร้อมระบบดูดอากาศผ่านเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรค สามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ เช่น เป็นห้อง ICU ห้องตรวจ หรือห้องฉุกเฉิน เป็นต้น ได้นำไปติดตั้งให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล

งานวิจัยรองรับสังคมสูงอายุ และสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยเพื่อผู้สูงอายุ อาทิ เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ

พัฒนาคิดค้นและออกแบบเตียงสำหรับผู้ป่วยอัมพาตและป้องกันแผลกดทับ หลอมรวมความเป็น dynamic support surface ของเตียงในการพลิกเปลี่ยนจุดกด กับ static support surface ของเบาะเจลยางพาราทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับมีสูงขึ้น สามารถตั้งเวลาควบคุมเตียงได้แบบออร์โตเมติก และมีระบบcentral control ควบคุมเตียงหลายเตียงผ่านทางหน้าจอเดียว เพื่อลดภาระของพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายเตียงในเวลาเดียวกันในช่วงการระบาดโควิด-19 ขณะนี้ได้พัฒนาคอนโทรลเลอร์ และsoftware เพื่อให้ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์และ software ทางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อให้สามารถใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือ โรงพยาบาลในระดับ จตุตถภูมิได้ สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์เทียบชั้นเครื่องมือทางการแพทย์ระดับโลกได้

เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง สร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ อว. ในยุทธศาสตร์ Quick Wins ครอบคลุมทั้งการจ้างงาน สร้างความรู้ภาคการเกษตรสมัยใหม่ เช่น แผนงานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการบริบาลผู้สูงอายุ โครงการสานพลังบวกผู้เกษียณสู่การสร้างสังคมแห่งการพัฒนาในยุควิถีชีวิตใหม่ เป็นต้น คาดว่าในปี 2564-2565 จะมีผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการต่างๆ ราว 60,000 คน จากนั้นในปี 2566 จะถึงเป้าหมาย 100,000 คน

งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ วัสดุก่อสร้างจากขยะพลาสติกใช้แล้ว แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาและการจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก สร้างรายได้แก่ชุมชน สร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพครบวงจร สร้างพื้นฐานความรู้ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยนำพืชผลทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลักการผลิต เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่นำมาเป็นวัตถุดิบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยเพื่อชุมชน อาทิ พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขแกนนำชุมชน ป้องกันโควิด-19 พื้นที่ชายแดน พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและประชาชนชาวเขาให้มีองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติ และความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งจากภายในประเทศและบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญในการอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข /ผู้ช่วยเหลือคนไข้/พนักงานบริการคนไข้/อสม. /สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)และผู้นำชุมชน รวมกว่า 1,125 คน ทั่วทั้งอำเภอแม่ฟ้าหลวง ปัจจุบันโครงการที่ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการปฏิบัติงาน และใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาของประเทศ เป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาว

ตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์ เครือข่ายภาคประชาชน บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคความมั่นคง: กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และภาคการวิจัย ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคจังหวัด ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ด้านความมั่นคงของชาติ การพัฒนาปราชญ์ พัฒนาชุมชนต้นแบบ นำไปสู่ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่สนใจงานวิจัยเหล่านี้ สามารถติดต่อได้ ที่ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร. 02-579-1370 หรือ www.nrct.go.th

 

ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9640000100458 

วันที่ 11 ตุลาคม 2564