จบแค่ป.4 จากรถเร่ขายน้ำอ้อย กลายมาเป็นผู้ส่งออกน้ำอ้อยหลายประเทศ ยอดขาย 20 ล้านบาท/ปี

ถ้าพูดถึง “ไร่ไม่จน” คงจะไม่มีใครไม่รู้จักน้ำอ้อยคั้นสดแบรนด์นี้ แต่กว่าจะมาเป็นน้ำอ้อยแบรนด์ไร่ไม่จนโด่งดังมีแฟรนไชส์ทั่วประเทศ รู้หรือไม่ว่า เจ้าของเริ่มต้นมาจากเป็นแค่เกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล และวันหนึ่ง อยากเพิ่มมูลค่าอ้อยจากสวนของตัวเอง จึงได้ทำน้ำอ้อยคั้นสด ใส่ท้ายรถเร่ขายไปตามตลาดนัด และพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดราชบุรีมาก่อน

ที่มาของไร่ไม่จน กว่าจะมีวันนี้

วันนี้ พามารู้จักกับ “ไร่ไม่จน” ภายใต้การบริหารงานของ ทายาทรุ่นที่ 2 “นางสาวปภัสราภรณ์ เหรียญทอง” (ปุ๋ม) เล่าว่า เดิมครอบครัวเป็นเกษตรกรทำไร่อ้อย ส่งโรงงานน้ำตาล แต่วันหนึ่งพ่อ (นายประกอบ เหรียญทอง )อยากมีรายได้ให้กับครอบครัวมากขึ้นกว่าการเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งการเป็นเกษตรกร รายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายเลยในช่วงนั้น

โดยพ่อได้ร่วมกับเพื่อนที่ปลูกอ้อยด้วยกันไปหาสายพันธุ์อ้อยมาปลูกเพิ่มเติมเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับการนำไปทำน้ำอ้อย คือ สายพันธุ์สุพรรณบุรี 50 หลังจากนั้น พ่อก็เลยไปซื้อเครื่องทำน้ำอ้อยที่เห็นทั่วไป และใส่ท้ายรถไปตระเวนขายตามตลาดนัด เหมือนกับพ่อค้าตลาดนัดทั่วไป ส่วนตัวยังจำภาพเหล่านั้นได้ เพราะปุ๋มเองได้มีโอกาสไปช่วยพ่อเอาน้ำอ้อยที่คั้นใส่ขวดไปส่งร้านก๋วยเตี๋ยว

จบแค่ ป.4 บริหารกิจการแฟรนไชส์กว่า 80 สาขา

“จนวันหนึ่ง พ่อจบแค่ ป.4 มีความคิดที่อยากจะต่อยอดการขายน้ำอ้อยในตลาดขึ้นมาเป็นแฟรนไชส์ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นชาวไร่อ้อยเหมือนกัน มาพัฒนายกระดับน้ำอ้อยสดท้ายรถกระบะ ขึ้นมาเป็นร้าน เป็นเคาน์เตอร์ มีการพัฒนาจากน้ำอ้อยใส่ในขวดมาอยู่ในโหลในรูปแบบของน้ำอ้อยเกล็ดน้ำแข็ง และเปิดขายแฟรนไชส์ ใช้ชื่อว่า ไร่ไม่จน"

“ส่วนที่มาของ ชื่อ “ไร่ไม่จน” เกิดขึ้นมาจากความต้องการของพ่อ ที่ต้องการทำให้ไร่ที่เกษตรกรไม่มีความยากจนเลย และต้องการจะส่งมอบให้กับผู้บริโภครวยไปกับเรา รวยในที่นี้คือรวยสุขภาพ ด้วยการเสิร์ฟน้ำอ้อยคั้นสดแบบ 100% จากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค ไม่ใส่สารเคมีใด ๆ เจือปน”

“ปภัสราภรณ์” เล่าว่า หลังจากที่ได้เปิดขายแฟรนไชส์ พ่อประกอบ ซึ่งเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำได้ดีเลยเพราะมีคนสนใจให้การตอบรับแฟรนไชส์ไร่ไม่จนเป็นอย่างดี โดยสามารถขายแฟรนไชส์ได้ ถึง 80 สาขา แต่พอมาเจอช่วงโควิดยอดแฟรนไชส์ลดลงหายไปครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่ประมาณสัก 50 สาขา ในปีนี้ หลังจากโควิดคลี่คลาย ได้ตั้งเป้าที่จะกลับมาบุกตลาดแฟรนไชส์อีกครั้ง โดยตั้งเป้าที่จะขยายให้ได้ 100 สาขา ส่วนราคาแฟรนไชส์ตอนนี้เรามีราคาเดียว คือ 89,900 บาท อุปกรณ์พร้อมขาย เพียงแค่มีทำเลที่ดี ก็สามารถซื้อแฟรนไชส์ของเราไปขายได้เลย จะทำเป็นอาชีพเสริม หรือ อาชีพหลักก็ได้

คว้าแชมป์โลกออกแบบบรรจุภัณฑ์จากหลายเวที
ผลักดันก้าวเข้าสู่ตลาดโลกของน้ำอ้อยจาก “ไร่ไม่จน”

“ปภัสราภรณ์” เล่าว่า ในส่วนของการส่งน้ำอ้อยไปขายที่ต่างประเทศ เกิดขึ้นมาจากการที่เราเข้าร่วมกับโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและมีโอกาสได้ไปร่วมออกบูทในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งเราก็ไปอยู่หลายรอบแต่ไม่ได้ลูกค้ากลับมาเลยสักครั้งเดียว สืบเนื่องมาจาก ในช่วงนั้นประเทศที่ไปร่วมออกบูทจะเป็นประเทศแถบยุโรป ซึ่งไม่รู้จักน้ำอ้อย เพราะเขาไม่ได้กินน้ำอ้อยกัน เป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่ได้รับออเดอร์ และประกอบกับแพคเกจจิ้งของเรามันยังไม่ตอบโจทย์การทำตลาดในประเทศของเขาด้วย

จนวันหนึ่ง ได้เข้าอบรมอย่างเข้มข้น กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้ง และครั้งนี้ ได้ปรับในเรื่องของแพคเกจจิ้ง ซึ่งทางกรมส่งเสริมฯได้ส่งนักออกแบบมืออาชีพ “นายสมชนะ กังวารจิตต์” มีดีกรีระดับแชมป์นักออกแบบมาช่วยออกแบบแพคเกจจิ้งให้ และการทำงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพระดับแชมป์ในครั้งนั้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ไร่ไม่จน ภายใต้การออกแบบของ “คุณสมชนะ” ได้ไปคว้าแชมป์โลกถึง 10 เวที ซึ่งส่งผลให้น้ำอ้อยแบรนด์ไร่ไม่จน เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกไปด้วย

และหลังจากที่เรามีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ ไร่ไม่จน ในแพคเกจจิ้งที่ทันสมัยขึ้น การไปออกบูทในต่างประเทศของเราได้รับความสนใจขึ้นมาทันที และได้ออเดอร์ต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งออเดอร์ไม่เยอะมาก ไม่ถึงตู้คอนเทรนเนอร์ แต่เป็นการสั่งแบบต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่า คนออสเตรเลียเริ่มจะชื่นชอบน้ำอ้อยจากประเทศไทย และต่อมามีส่งไปประเทศมาเลเซีย และอีกหลายประเทศ แต่เป็นการส่งไปขายจำนวนไม่เยอะเอาไปวางขายในร้านเอเชีย ขายคนเอเชียด้วยกัน ซึ่งตอนนั้น มียอดการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสัก 5%

จนกระทั่ง ล่าสุด เมื่อสัก 2 ปีทีผ่านมา ได้ลูกค้าจากการออกบูทในงาน THAI FEX ได้ออเดอร์จากประเทศจีน ครั้งนี้ มีการสั่งเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ ทำให้ยอดการส่งออกของเราขยับเพิ่มเป็น 40% ของยอดขายทั้งหมด และจากการที่เราเริ่มเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติในหลายประเทศ เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย พอมาประเทศไทยเห็นว่า น้ำอ้อยไร่ไม่จน ที่เขาเคยกินในกระป๋อง มีการขายน้ำอ้อยเป็นร้านแบบนี้ด้วยเหรอ เค้าก็สงสัยอยากจะได้ร้านแบบนี้ไปเปิดที่ประเทศของเค้าด้วย เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราจะนำแฟรนไชส์ไร่ไม่จนของเราออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศ

ต่างชาติไม่อยากกินน้ำอ้อยกังวลเรื่องน้ำตาล

เป็นที่มาของอ้อยดำโปรดักส์เจาะคนรักสุขภาพ

“ปภัสราภรณ์” เล่าถึงรสชาติของน้ำอ้อยจากไร่ไม่จน ว่า ในส่วนของรสชาติ น้ำอ้อยที่เป็นบรรจุกระป๋อง และน้ำอ้อยคั้นสด จะมีความแตกต่างกัน เพราะน้ำอ้อยคั้นสดจะมีรสชาติจากชานอ้อยเขียวๆ ที่บางคนไม่ชอบรสชาติกลิ่นเขียวแบบนี้ ในขณะที่บางคนก็ชอบว่ามันสดดี แล้วแต่ความชอบ แต่ของเราต้องบอกก่อนว่าเราเป็นน้ำอ้อย 100% ไม่มีส่วนผสม หรือ ปรุงแต่รสเลย แต่ของเราจะไม่มีกลิ่นเขียวๆ ที่เหมือนน้ำอ้อยคั้นสด ตรงนั้นเลย ทำให้ถูกใจผู้บริโภคหลายๆ คน

ในส่วนของรสชาติทำให้หลายคนที่รักสุขภาพรู้สึกว่ากลัว ความหวาน รวมถึงลูกค้าในต่างประเทศเอง จะใส่ใจเรื่องสุขภาพจะไม่กินอะไรที่หวานมาก ทำให้เขาปฏิเสธที่จะกินน้ำอ้อยของเรา ด้วยเหตุนี้ เอง ทำให้เราต้องกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเริ่มจากวัตถุดิบ อ้อยชนิดไหนที่น่าจะตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้บ้าง จนได้มาเจอ อ้อยดำ เป็นอ้อยสายพันธุ์ที่ไม่หวานมาก

สำหรับอ้อยดำนั้น เดิมคนโบราณจะปลูกไว้หลังบ้าน เพราะเป็นหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางยาแพทย์แผนไทยใช้อ้อยดำเป็นส่วนหนึ่งในสมุนไพรรักษาโรค ช่วยบำรุงหัวใจ และดับกระหาย และจากผลการวิจัยผลไม้และพืชที่มีสีดำจะมีสารช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ การที่เรานำอ้อยดำมาครั้งนี้ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ แต่ถ้ารสชาติ คนที่เคยกินน้ำอ้อยแบบเดิม จะไม่ชอบน้ำอ้อยดำเลย เพราะรสชาติแตกต่างกันเลยความหวานน้อยมาก เหมือนกินน้ำเก็กฮวย แต่ต่างชาติชอบเพราะเหมือนกินน้ำชา ดื่มง่าย และจากการที่ได้มีส่งไปขายในประเทศออสเตรเลียปรากฎว่ามีออเดอร์กลับเข้ามาตอนนี้เยอะกว่าน้ำอ้อยตัวเดิมเสียอีก

ติดต่อ Facebook : Numaoy raimaijon Co.,Ltd น้ำอ้อยไร่ไม่จน น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์
โทร. 08-7998-9982

 

ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9670000003916 

วันที่ 27 มกราคม 2567