จากเส้นใยไม้และใยแมงมุม สู่วัสดุชีวภาพใช้แทนพลาสติก เพื่อลดภาวะโลกร้อน

ข่าวดีคนรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ในตอนนี้กำลังมีการพัฒนาวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างเส้นใยไม้และใยแมงมุม เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลนด์ ที่จะช่วยลดปัญหาโลกร้อน โลกเดือด หวังยืดอายุโลกต่อไป

ศูนย์วิจัยทางเทคนิควีทีที (VTT Technical Research Centre) ได้พัฒนาวัสดุที่เป็นนวัตกรรมใหม่ชนิดมีประสิทธิภาพเหนือกว่าวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องความแข็งแกร่งและความทนทาน ซึ่งทางนักวิจัยจากศูนย์วีทีทีและมหาวิทยาลัยอัลโต (Aalto University) ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติในการสร้างวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการผสานเส้นใยเซลลูโลสของไม้และโปรตีนจากใยแมงมุมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นวัสดุชีวภาพชนิดใหม่

การพัฒนาวัสดุชีวภาพชนิดใหม่นี้ ไม่ใช้ใยแมงมุมจริงในการวิจัย แต่เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียและดีเอ็นเอสังเคราะห์ ซึ่งโครงสร้างของดีเอ็นเอสามารถสร้างเลียนแบบเพื่อใช้ผลิตโมเลกุลโปรตีนใยแมงมุมเทียม ที่มีความคล้ายคลึงทางเคมีกับใยแมงมุมจริง

โดยวัสดุสังเคราะห์นี้สามารถทดแทนพลาสติกได้ ทั้งประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ใช้เป็นเส้นใยในการผ่าตัด รวมถึงในอุตสาหกรรมสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์ได้ด้วย

วัสดุชีวภาพชนิดใหม่ ที่ทำจากเส้นใยไม้และใยแมงมุมสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากพลาสติกซึ่งทำมาจากปิโตรเลียมและโพลิเมอร์ที่มีส่วนประกอบของคาร์บอน ซึ่งส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อม

เพสห์แมน โมฮัมมาดี นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากศูนย์วีทีที กล่าวว่า พวกเขาใช้เนื้อไม้ของต้นเบิร์ชซึ่งถูกทำให้แหลกจนเป็นเส้นใยขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “เซลลูโลสนาโนไฟบริลส์” ในการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่นี้ และใช้เส้นใยแมงมุมยึดวัสดุเข้าด้วยกัน โดยจะทำหน้าที่คล้ายกาว

 

ที่มา: https://www.nationtv.tv/gogreen/378933370 

วันที่ 27 ตุลาคม 2566