นักวิจัยมทส.ทะลายข้อจำกัดพลาสติกชีวภาพ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงผลสำเร็จการวิจัย บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงขีวภาพ
ของผศ.ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.

อาจารย์อุทัยนำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรมพอลิเมอร์ ผสานกับทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bioplastic) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เหมาะกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง และบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง

โดยเป็นพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติ สามารถปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย จากเดิมที่ทนความร้อนได้ 50 องศาเซลเซียส เกิดเป็นข้อจำกัดในบางขั้นตอนการผลิตอาหาร ที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า จึงทุ่มเทวิจัยจนสามารถพัฒนาคุณสมบัติ ให้สู่ทนความร้อนได้สูงถึง 150 องศาเซลเซียส

และจากผลทดสอบของห้องปฏิบัติการ สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมในแง่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารกระป๋อง ได้ตามมาตรฐานกระบวนการผลิตอาหารกระป๋องที่สำคัญ คือต้องผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณภูมิ 121 องศาเซลเซียส ด้วยความดันที่ 15 psi (พีเอสไอ) เป็นเวลา 15 นาที

ผลสำเร็จนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่การพัฒนาต่อยอด สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทย ที่มุ่งขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคที่ใสใจสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานของพลาสติกชีวภาพ

ผศ.ดร.อุทัย มีคำ เรียนจบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยาเชียงใหม่ และไปจบปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีเคมี จากมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด สหราชอาณาจักร

และเป็นนักเรียนทุน พสวท. ปี 2529 สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อศึกษาวิจัย ประดิษฐ์คิดค้น และเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์การพัฒนาประเทศ

เคยได้รับรางวัลเหรียญเงิน งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ KIDE 2022 เมื่อธ.ค. 2565 ที่เมืองเกาสง ไต้หวัน

ผลงานวิจัยล่าสุดนี้จะช่วยหนุนยุทธศาสตร์ไทยครัวโลก และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจBCG Model

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/news/560605 

วันที่ 03 เมษายน 2566