มทส.เปิดสุดยอดงานวิจัยบรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง ทลายข้อจำกัดพลาสติกชีวภาพ

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สุดยอด! นักวิจัย มทส.ทลายข้อจำกัดพลาสติกชีวภาพ พร้อมดันสู่ “บรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง เป็นมิตรต่่อสิ่งแวดล้อม” ทนความร้อนได้สูง ระดับมาตรฐานกระบวนการนึ่งฆ่าปลอดเชื้อ เพิ่มขีดความสามารถหลากหลายการใช้งาน

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มทส. เปิดเผยว่า จากการเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีเป้าหมายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมระดับประเทศ ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ล่าสุดได้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ” ของ ผศ.ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.

โดยได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม พอลิเมอร์ ผสานกับทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bioplastic) ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง และบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง ที่ปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจได้ทันที สนองตอบโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน

ผศ.ดร.อุทัย มีคำ นักวิจัยเจ้าของผลงานกล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับความปลอดภัยของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุฐานชีวภาพ (Bio-Degradable Packaging) และย่อยสลายได้ภายในเวลา 2-5 เดือนตามมาตรฐานกระบวนการฝังกลบ ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมี ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 400 ปี สร้างปัญหาขยะตกค้าง และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ” ได้ศึกษาวิจัยเพื่อทลายข้อจำกัดทั่วไป และเพิ่มขีดความสามารถของไบโอพลาสติก (Bioplastic) คือจากปกติที่ทนความร้อนที่ 50 องศาเซลเซียส พัฒนาคุณสมบัติสู่ทนความร้อนได้สูงถึง 150 องศาเซลเซียส และจากผลทดสอบของห้องปฏิบัติการ สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมในแง่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารกระป๋องได้ตามมาตรฐานกระบวนการผลิตอาหารกระป๋อง ที่สำคัญคือต้องผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ด้วยความดันที่ 15 psi (พีเอสไอ) เป็นเวลา 15 นาที

ผศ.ดร.อุทัยบอกว่า จากผลสำเร็จนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่การพัฒนาต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทยที่มุ่งขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานของพลาสติกชีวภาพ ไม่มีข้อจำกัดด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติรองรับอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งได้เป็นอย่างดี

สำหรับความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์นั้น จากการศึกษาในแง่ต้นทุน และควบคุมการผลิต สามารถควบคุมต้นทุนให้ไม่สูงมาก หรือใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไปได้ ด้วยปัจจัยหลักคือ วัสดุฐานชีวภาพจากพลาสติก PLA จากวัสดุธรรมชาติมีผู้ผลิตป้อนสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ และปัจจัยการผลิตแบบฉีดขึ้นรูป ที่สามารถใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเดิมตามปกติ ทำให้ลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้มาก ต้นทุนจึงอยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์-1 บาทต่อแพก

“ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยผลักดันมูลค่าทางการตลาด” ผศ.ดร.อุทัยกล่าว และว่า

บางประเทศในแถบยุโรปได้ออกกฎหมายควบคุมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เชิงชีวภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประกอบกับการที่ประเทศไทยประกาศเป็นครัวโลกมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งยังย่อยสลายได้เชิงชีวภาพได้เป็นประเทศต้นๆ ของโลก ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของทั่วโลกที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals-SDGs ที่ครอบคลุมมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

ที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9660000026947 

วันที่ 11 เมษายน 2566