ESG ใส่ใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ ถ้า..แบรนด์อยากมี "แพคเกจจิ้งรักษ์โลก" ต้องทำไง?

- หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเดินหน้าเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความรักษ์โลก
- การนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร จะมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้รองรับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
- พามาดูภาคเอกชน เดินเครื่อง ESG เต็มสูบ พร้อมให้ความสำคัญ sustainability packaging

หลายองค์กรเดินหน้าทำ ESG และสิ่งแรกๆที่จะทำมักจะเป็นการใส่ใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วถ้าแบรนด์ไหนที่ยังไม่ได้ทำ และอยากมีแพคเกจจิ้งรักษ์โลก ต้องทำไง?

ปัจจุบันหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างเดินหน้าเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความรักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้ทันกับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ESG เป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงพาณิชย์ แนะนำว่า การนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร จะมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้รองรับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยนำแนวคิด ESG เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ เช่น

- การปรับห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับ ESG ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพ การพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และให้สวัสดิการที่เป็นธรรม
- การปรับกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่เป็น ESG
- การสนับสนุนการลงทุนและการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG
- การส่งเสริมธุรกิจรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ให้ปรับตัวสู่ธุรกิจ ESG ผ่านการปรับกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน การสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่น การมีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชน และการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ESG ที่เน้น sustainability packaging เป็นอย่างไร

แม้ว่าในตอนนี้บ้านเรา ESG จะร้อนแรงมาก ทุกแบรนด์กำลังตื่นตัว แต่…จากกาสำรวจหากเป็นธุรกิจภาคเอกชน ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาก่อน สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า sustainability packaging คืออะไร คำตอบ คือ

- บรรจุภัณฑ์ที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล
- เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติในขั้นตอนของการผลิต
- ต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากห่วงโซ่อุปทานการผลิต
- บรรจุภัณฑ์ต้องมีความปลอดภัย รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บได้ดีขึ้น

สำหรับการพัฒนา sustainability packaging ต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่างๆดังนี้

- Reuse สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- Reduce ต้องลด หรือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
- Repair สามารถนำมาได้ซ่อมแซม เป็นการลดขยะไปในตัว
- Recycle ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้

“Green Packaging ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายสินค้าสีเขียว (Green Distribution) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับผู้ผลิตในการทำบรรจุภัณฑ์ให้เป็นรูปแบบมาตรฐาน การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการส่งคืนบรรจุภัณฑ์ การนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล การลดการใช้วัสดุและเวลาในการแกะบรรจุภัณฑ์ การใช้ระบบพาเลทที่สามารถรีไซเคิลได้ ไปจนถึงการลดการใช้พลังงานภายในคลังสินค้า”

หลังจากได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำ Green Packaging วันนี้จะพาไปดู ภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวเรื่องนี้ และเดินหน้าทำ ESG อื่นๆ อีกมากมาย ในอุตสาหกรรมนมทางเลือก โดย คุณ “สุทธินันท์ เตชะทยานนท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญอย่างมากกับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก หรือ Green Packaging โดยกล่องเครื่องดื่มของเต็ดตรา แพ้ค สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดและโดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนของวัตถุดิบที่มากกว่า 70 % เป็นทรัพยากรทดแทนได้

ซึ่งได้จากป่าที่ผ่านการรับรองขององค์การจัดการป่าไม้ (FSC™) และแหล่งควบคุมอื่น ๆ แคมเปญนี้จึงสามารถสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของกล่องเครื่องดื่ม ช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวเลือกบรรจุภัณฑ์ของตนเอง

“การทำ ESG ของเราทำงานร่วมกันกับผู้ผลิตตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่โรงงานกระบวนการผลิตทั้งหลาย เรามีเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สูง แล้วก็ช่วยในเรื่องของการจัดการ ลดพลังงาน การใช้น้ำ การใช้ไฟ ร่วมไปถึงการจัดการพวกของเสียต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถดำเนินธุรกิจโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ บรรจุภัณฑ์เองก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถส่งต่อในเรื่องของความยั่งยืนได้โดยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ด้าน คุณ “ปฏิญญา ศิลสุภดล” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าในตัวเองมากกว่าต้นทุนที่จ่าย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและชุมชนในเชิงบวก ดังนั้นจะเห็นว่าบริษัทฯมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้จริงในทุกองศา โดยการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ และการทำงานร่วมกับลูกค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเร่งสร้างนวัตกรรมการผลิตและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

“ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการขับเคลื่อนโซลูชั่นหมุนเวียนทรัพยากร เน้นให้เกิดการจัดเก็บ รวบรวม และรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มเพิ่มมากขึ้น เพื่อดึงวัสดุที่ใช้แล้วออกจากหลุมฝังกลบ และร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และการเพิ่มมูลค่าให้กับห่วงโซ่ซัพพลายตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”

นอกจากนี้ได้มีการวางกรอบแนวทางแบบองค์รวมที่เชื่อมโยง 5 ประเด็นหลัก ที่บริษัทสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยได้มากที่สุด ได้แก่ ระบบอาหาร, การหมุนเวียนทรัพยากร, สภาพอากาศ, ธรรมชาติ และความยั่งยืนทางสังคม

- ระบบอาหาร - ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารที่มีความยั่งยืน
- การหมุนเวียนทรัพยากร – ขับเคลื่อนโซลูชันแบบหมุนเวียนทรัพยากร
- สภาพอากาศ - เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และห่วงโซ่คุณค่าของเรา
- ธรรมชาติ – ลงมือทำเพื่อธรรมชาติด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
- และความยั่งยืนทางสังคม – สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

ไม่เพียงเฉพาะเรื่องความยั่งยืนบริษัทยังกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ ด้วยการดื่มนมธัญพืชที่ทั้งอร่อยและให้คุณประโยชน์เปิดตัวแคมเปญ ‘นมทางเลือก ของคนช่างเลือก’ เพื่อโปรโมทให้คนไทยหันมาดื่มนมธัญพืชที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ด้วยความหลากหลายในรสชาติและคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต นมพิสตาชิโอ และนมแมคคาเดเมีย ที่ใช้โซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยและยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ซึ่งพร้อมตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในปัจจุบัน

สำหรับตลาดนมธัญพืชในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากรายงานของ NielsenIQ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของนมธัญพืช (ยกเว้นนมถั่วเหลือง) ในปี 2566 พุ่งสูงขึ้นกว่า 41 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 1,400 ล้านบาท และมีสัดส่วนเป็น 9 % ของตลาดนมธัญพืชทั้งหมดในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมของนมธัญพืชที่กำลังเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคคนไทย

ในส่วนของ “เต็ดตรา แพ้ค ยังได้มีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุระบบยูเอชที (Ultra-High Temperature Treatment: UHT) มาช่วยในการเก็บรักษาคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพ และการคงรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์นมธัญพืชทั้งสี่ประเภท โดยไม่ต้องใช้สารกันบูดและการแช่เย็นตลอดอายุการเก็บรักษา

นอกจากนี้ยังบรรจุโดยใช้โซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อของเต็ดตรา แพ้ค ซึ่งอยู่ในรูปแบบของกล่องเครื่องดื่มที่พกพาสะดวก เหมาะกับผู้บริโภคชาวไทยที่ใช้ชีวิตนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น"

ที่มา: https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/851229 

วันที่ 06 กรกฎาคม 2567