EPR คืออะไร? สร้างประโยชน์อะไรให้กับภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมของไทย
EPR: Extended Producer Responsibility คือ เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ส่งผลเสียหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ทำไมจึงต้องทำ EPR
เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่สูญเปล่า
เป็นการบริหารจัดการและลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกได้ร่วมดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
ช่วยแก้ปัญหาด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมจากพลาสติกอย่างยั่งยืน
ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมดูแลและจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระบบ EPR หรือ Extended Producer Responsibility เป็นเครื่องมือที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เกิดการพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสม ส่งเสริมการสร้างระบบการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันขยะในประเทศไทยมีการสะสมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเพื่อการใช้งานในระยะสั้น จากนั้นก็ถูกทิ้งไปกลายเป็นภาระแก่ท้องถิ่นที่ต้องนำขยะไปกำจัด อย่างไรก็ตามผู้ผลิตจะมีส่วนรับผิดชอบมากขึ้นต่อขยะบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองผลิตและจำหน่าย ภายใต้หลักการที่เรียกว่า Extended Producer Responsibility หรือ EPR ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะสะสมแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย
ปัญหาขยะภาระของใคร
ประเทศไทยปล่อยขยะพลาสติกให้รั่วไหลออกสู่มหาสมุทรในสัดส่วนมากที่สุดเป็นลำดับที่ 6 จากการรายงานของธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งแสดงถึงการขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะและทรัพยากร โดยไทยมีอัตราการใช้พลาสติกประมาณ 3.49 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยเพียง 616,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 เท่านั้น ส่วนที่เหลือมักกลายเป็นขยะสะสม ซึ่งหนึ่งในนั้นที่พบได้บ่อยคือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนหนึ่งเริ่มหันมาแยกขยะกันมากขึ้น และพบว่าเจ้าของสินค้าบางรายได้เริ่มเรียกคืนซากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ตนเองเป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้นทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงการทำบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ใช้หลักการที่เรียกว่า EPR
EPR แก้ปัญหาขยะด้วยความรับผิดชอบ
Extended Producer Responsibility (EPR) คือหลักการที่กำหนดให้ผู้ผลิตมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ตนเองผลิตและจำหน่าย รวมถึงเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน ซึ่งต่างกับในอดีตที่ผู้ผลิตมักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซากผลิตภัณฑ์ที่หลงเหลืออยู่หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถูกขายให้แก่ผู้บริโภคไปแล้ว โดยผู้ผลิตต้องมีวิธีจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งซากบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะด้วยแนวทาง 3 ข้อดังนี้
สร้างระบบรวบรวมและขนส่งซากบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง
เพิ่มการใช้ประโยชน์จากวัสดุที่มาจากซากบรรจุภัณฑ์ เช่น ใช้ซ้ำ รีไซเคิล แปลงไปเป็นพลังงาน
ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น ไม่ใช้วัสดุผสมหลายชนิดในการผลิตบรรจุภัณฑ์และไม่สกรีนสีบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นนำไปรีไซเคิลได้ยาก
EPR กับการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และขยะพลาสติก
หลักการ EPR สามารถนำมาปรับใช้เพื่อจัดการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้หลากหลายประเภท โดยประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ ไต้หวัน ได้นำหลักการ EPR มาเป็นพื้นฐานในการออกกฎหมายเพื่อจัดการผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ค่อนข้างอันตราย ยากต่อการจัดการให้ถูกต้องปลอดภัยโดยรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ รถยนต์ รวมถึงกลุ่มบรรจุภัณฑ์
จากสถานการณ์ปัญหาพลาสติกที่มีการผลิตและใช้ในหลายอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ในสหภาพยุโรปจึงมีการออกกฎระเบียบห้ามจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว(DIRECTIVE (EU) 2019/904, SUP) ได้แก่ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก รวมถึงเครื่องมือประมงที่ทำจากพลาสติก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หลายประเทศเริ่มนำหลักการ EPR มาใช้ในการจัดการ SUP เหตุผล เนื่องจาก SUP เป็นพลาสติกที่อายุการใช้งานสั้น แต่เมื่อกลายเป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมจะย่อยสลายได้ยาก สร้างปัญหามลพิษพลาสติกในทะเลและความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ขวดพลาสติกที่จำหน่ายในท้องตลาดยุโรปจะต้องมีสัดส่วนพลาสติกรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 25% ภายใน ค.ศ. 2025 และ 30% ภายใน ค.ศ. 2030 และประเทศสมาชิกจะต้องจัดระบบเก็บขยะแบบแยกประเภทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องเก็บรวบรวมขวดพลาสติกให้ได้ 77% ภายใน ค.ศ. 2025 และ 90% ภายใน ค.ศ. 2029 เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ได้กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบมัดจำคืนเงิน(Deposit-Refund/Return System: DRS) เพื่อเรียกคืนขวดพลาสติกจากผู้บริโภคในอัตราที่สูงขึ้น
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ EPR ในประเทศเพื่อนบ้าน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มออกกฎหมาย EPR เพื่อมาจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และขยะพลาสติก รวมถึง SUP ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยมีรายละเอียดการออกกฎหมายที่แตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้
สิงคโปร์
กฎหมาย: Resource Sustainability Act 2019 Part 4 Reporting in relation to packaging
เวียดนาม
กฎหมาย: Decree detailing some articles on the Law on Environmental Protection-08/2022/ND-CP
อินโดนีเซีย
กฎหมาย: Roadmap on Waste Reduction by Producer DECREE NO. P.75/2019
ฟิลิปปินส์
กฎหมาย: Act Institutionalizing the Extended Producer Responsibility on Plastic Packaging Waste (Republic Act No.11898)
กฎหมาย EPR Act 2022 เน้น EPR บรรจุภัณฑ์พลาสติกและ SUP
สำหรับประเทศไทย เริ่มมีความตื่นตัวของภาคเอกชนในการจัดระบบรับคืนขยะบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค อาทิ กล่องเครื่องดื่ม ฟิล์มพลาสติก ขวดพลาสติก ฯลฯ โดยเป็นลักษณะโครงการ CSR ของบริษัทซึ่งทำในขอบเขตจำกัดเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต่อมาสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบ EPR อย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจหลักการและบทเรียนจากต่างประเทศและพัฒนาโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (นำร่อง) ที่จังหวัดชลบุรี รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการออกแบบกลไก EPR ภาคบังคับกับภาคนักวิชาการและภาครัฐ
ในฝั่งของภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษได้บรรจุแผนการพัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินการศึกษายกร่างพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยกรมควบคุมมลพิษวางแผนที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้ภายใน พ.ศ. 2569 ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันติดตามและมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและช่วยแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ ลดการตกค้างรั่วไหลในสิ่งแวดล้อม และสามารถแปลงขยะมาเป็นทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
บทความโดย สุมาลี ทั่งพิทยกุล
ที่มา: https://www.thaipackmagazine.com/articles/epr-packaging