ภาพคำเตือน สลากนํ้าเมา ลดการดื่มได้จริงหรือ

ถูกตั้งคำถามมากมาย ว่าทำไมสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงนำร่าง ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... ออกมาเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น หรือ ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ของระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 12 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 อีกครั้ง

ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายนี้เคยถูกนำเสนอในปี 2557 และถูกที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ปัดตก เนื่องจากประเด็นความไม่สอดคล้องกับข้อตกลง และหลักการการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความไม่เหมาะสมและไม่เป็นสากลของภาพคำเตือนที่เสนอใช้ และให้พิจารณาใช้กราฟฟิกสัญลักษณ์ “ดื่มไม่ขับ” และ “ไม่ดื่มขณะตั้งครรภ์” ที่ประเทศทั่วโลกใช้อยู่

หรือเป็นการโยนหินถามทาง หยั่งกระแสว่า จะประกาศใช้ภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แน่นอนว่า การติดภาพคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็คล้ายกับการติดภาพคำเตือนบนผลิตภัณฑ์บุหรี่ หรือ Graphic Health Warnings เพื่อให้ผู้ดื่มได้ตระหนักรู้ถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ ซึ่งภาพคำเตือนจะถูกนำไปติดบนขวด

เช่น การดื่มสุราทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, การดื่มสุราก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้ เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดขนาดของภาพคำเตือน ที่ถูกนำไปติดบนขวดหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วย

ไม่ใช่ว่า เดิมไม่มีคำเตือนบนฉลาก แต่เดิมคำเตือนที่มีอยู่ เช่น ห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลซึ่งมีอายุตํ่ากว่า 20 ปีบริบูรณ์, การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง เป็นต้น

เป้าหมายของการติดภาพคำเตือน ที่นอกเหนือจากการให้รู้ถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดการดื่มของนักดื่มหน้าใหม่

แต่หากมองย้อนกลับไป เส้นทางของ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ก็ไม่แตกต่างจากเส้นทางของ “บุหรี่” เท่าไรนัก เพราะกฎหมายบ้านเราคุมเข้มเรื่องของบุหรี่อย่างหนัก นับตั้งแต่ปี 2517 ที่เริ่มมีคำเตือนบนซองบุหรี่ว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้านข้างซอง ก่อนที่จะขยับมาไว้ด้านหน้าซองในปี 2532 และขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น

จนปี 2548 คำเตือนก็ขยายใหญ่ขึ้นมีขนาดครึ่งหนึ่งของซองบุหรี่ทั้งสองด้าน ต่อมาในปี 2550 ก็เพิ่มฉลากคำเตือน เป็นภาพน่าเกลียดน่ากลัว เช่น ภาพควันบุหรี่ทำให้หัวใจวายตาย, ภาพควันบุหรี่นำชีวิตสู่ความตาย, ภาพสูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก ฯลฯ

เป้าหมายสำคัญในห้วงเวลานั้น ก็คือ บ่งชี้ให้เห็นถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ และลดนักสูบหน้าใหม่ให้น้อยลง แต่จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 16 ปี จำนวนนักสูบหน้าใหม่ก็ไม่ได้ลดลง แถมอายุนักสูบก็น้อยลงเรื่อยๆ วันนี้ไม่ใช่เพียงมัธยมฯต้น แต่ประถมฯ ตอนปลาย ก็เริ่มคีบบุหรี่ หรือ สูดบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

ชั่วโมงนี้ ภาพคำเตือนอย่างเดียวคงไม่พอ ที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าประสงค์ ไม่ว่าจะในผลิตภัณฑ์บุหรี่ หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์...

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/columnist/editorial/589592 

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567