จากพ่อค้าซาเล้งซื้อเศษพลาสติก สู่ เจ้าของโรงงานถุงขยะที่กำลังการผลิตกว่า 22 ตัน/วัน

ทุกอย่างไม่ได้มาง่ายๆ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย หลายคนต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก เรียนรู้และลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่ไม่มีอะไรที่เกินความพยายามและความตั้งใจ เช่นเดียวกับเส้นทางการทำธุรกิจของ “คุณจิรัฎฐ์ อริยรัตนหิรัญ” เจ้าของผู้ผลิตถุงขยะ บริษัทชัยกานต์พลาสติก จำกัด กว่าจะถึงวันนี้ ต้องต่อสู้มากว่า 20-30 ปี เริ่มต้นจากการขี่ซาเล้งหาซื้อเศษพลาสติก จนได้มาเป็นเจ้าของโรงงานบนพื้นที่กว่า 7 ไร่ ผลิตถุงขยะป้อนให้กับ โรงพยาบาลทั่วประเทศ และผลิตให้แบรนด์ผู้ผลิตถุงขยะหลายสิบแบรนด์

ขี่ซาเล้งรับซื้อเศษพลาสติก สู่เถ้าแก่เจ้าของโรงงาน

นายจิรัฎฐ์ อริยรัตนหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชัยกานต์พลาสติก จำกัด เล่าว่า ตนเองเริ่มต้นกว่าจะเป็นเจ้าของโรงงานในวันนี้ เริ่มจากศูนย์เลยก็ว่าได้ ตอนแรกรับซื้อถุงขยะมาขายหน้าธนาคารแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธน ขายวันแรกได้ 2 กิโลกรัม ตอนหลังรู้สึกว่า ถ้าขายได้แค่นี้น้อยมาก กำไรไม่ถึง 100 บาท ก็เลยเปลี่ยนวิธี หันมาขายตรงเดินเข้าไปติดต่อขายกับ ร้านอาหาร โรงเรียน โรงงาน ฯลฯ จากขายปลีกลองเปลี่ยนมาเป็นแบบขายในราคาขายส่ง ที่เลือกลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะเห็นเค้าใช้ถุงขยะเยอะในแต่ละวัน ถ้าเราสามารถที่จะวิ่งเข้าไปขายให้เค้าโดยที่ไม่ต้องออกไปซื้อเอง และที่สำคัญราคาต้องไม่แพง น่าจะทำให้ร้านเหล่านั้น ตัดสินใจซื้อกับเรา และก็เป็นเช่นนั้นจริง

อย่างไรก็ดี การที่เราจะขายได้ในราคาขายส่ง ต้องไปดิวซื้อตรงจากโรงงาน แต่การซื้อกับโรงงานจำนวนต้องได้เค้าถึงจะขายให้กับเรา ในช่วงแรกออเดอร์เราก็ไม่เยอะ วันหนึ่งไม่เกิน 100 กิโลกรัม ครั้งแรกๆโรงงานยอมขายให้ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ทางโรงงานเห็นว่าออเดอร์ของเรามันน้อย ปกติโรงงานเค้าจะรับเฉพาะลูกค้าที่มีออเดอร์อย่างต่ำก็ต้องหนึ่งคันรถ เราก็เลยต้องหาที่ซื้อแห่งใหม่ ช่วงนั้นเริ่มได้ศึกษาว่า โรงงานผลิตถุงพลาสติกเนี่ยเค้าทำกันอย่างไร จนไปสังเกตเห็นมี คนขนเศษพลาสติกมาส่งโรงงานทำถุงขยะ ตอนนั้นเกิดความสนใจ มาเฝ้าครั้นจะไปถามเค้าก็คงไม่ใช่ ผมก็ใช้การขับมอไซต์ตามไปว่าเค้าไปซื้อเศษพลาสติกมาจากที่ไหนจนไปพบว่าแหล่งซื้อเศษพลาสติกแหล่งใหญ่ย่านดอนเมือง

จากวันนั้น เกิดไอเดียใหม่คิดว่า รับซื้อเศษพลาสติกและไปส่งขายโรงงานน่าจะทำรายได้มากกว่า การวิ่งขายถุงพลาสติกตามร้าน ผมก็เลยไปซื้อซาเล้งมาคันหนึ่งขับตระเวนหาซื้อเศษพลาสติก ผมตั้งใจทำมาก ผ่านมาหลายปี ผมได้เป็นผู้รับซื้อเศษพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในย่านดอนเมืองก่อนจะย้ายมาทำที่สุวรรณภูมิเพราะมีพลาสติกเยอะกว่า

จากพ่อค้าซาเล้งมุ่งมั่นจนเป็นผู้ซื้อ
เศษพลาสติกรายใหญ่ย่านดอนเมือง

ทั้งนี้ จากทำเล็กก็ค่อยขยายจนกลายเป็นคนที่รับซื้อเศษพลาสติกรายใหญ่ จนกระทั่งวันหนึ่งโรงงานที่รับซื้อเศษพลาสติก ได้โละเครื่องจักรทำเม็ดพลาสติกของโรงงาน คุณจิรัฎฐ์ มองเห็นโอกาสเล็กๆ ในตอนนั้น ตัดสินใจซื้อเครื่องจักรตัวนั้นทั้งที่ไม่รู้ว่าใช้งานได้ไหม แต่เหมือนซื้อมาลองใช้ดูก่อน โดยนำมาซ่อมซึ่งพอใช้งานได้แต่ไม่ดีนัก ทำ 3 วัน หยุด 2 วัน ทำ 2 วัน หยุด 3 วัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจากขายเศษพลาสติก มาทำเม็ดพลาสติกส่งขาย

คุณจิรัฎฐ์ เล่าว่า ตอนที่ทำเม็ดพลาสติกออกมาขาย รู้ว่าจริงแล้ว กำไรเยอะมากผลตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าการขายเศษพลาสติกเยอะมาก เพราะจากเศษพลาสติกที่ผมซื้อมากิโลกรัมละ 8 บาท พอมาทำเม็ดพลาสติกผมขายได้กิโลกรัมละ 28 บาท กำไรดีมาก ตอนนั้นตัดสินใจเก็บเงินไปซื้อเครื่องทำเม็ดพลาสติกมาทำอย่างจริงจัง และช่วงนั้นผมเก็บเงินได้เยอะพอสมควรเลย ตัดสินใจซื้อเครื่องเป่าทำถุงขยะ สานฝันตั้งแต่ตอนที่วิ่งขายถุงขยะตามร้านอาหาร ว่าอยากจะมีโรงงานผลิตถุงขยะกลับเขาบ้าง

ในช่วงเริ่มต้นก็ไม่ได้ง่าย เพราะผลิตออกมาแล้วไม่รู้จะไปขายให้ใคร และเราก็เป็นหน้าใหม่ในตลาดช่วงนั้น คนยังไม่รู้จัก ในช่วงแรกก็ทำ 3 วัน หยุด 2 วัน เหมือนกัน มีพนักงาน 3 คน รวมตัวผมด้วยช่วยกันทำ แต่ก็ค่อยขยับขยายวิ่งหาลูกค้า พอมีลูกค้ามีออเดอร์เข้ามา ครั้งนี้ ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งการลงทุนทำถุงขยะตอนนั้นใช้เงินไปพอสมควรเลย เพราะได้มีการลงทุนซื้อที่ดิน จำนวน 7 ไร่ ย่านบางบอน เพื่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรเพิ่ม แต่มั่นใจว่าตลาดมันไปได้ลูกค้าเริ่มมีมากขึ้น

รับผลิตถุงขยะให้แบรนด์ต่างๆหลายสิบแบรนด์

สำหรับการทำโรงงานถุงขยะนับถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2545 เริ่มจากค่อยๆ ทำแรกมีออเดอร์ไม่เยอะ อาทิตย์หนึ่งผลิตถึงแค่ 3 วัน มีพนักงานเดิมที่ทำเม็ดพลาสติก ประมาณ 3 คน รวมตัวผมด้วย จนถึงวันนี้ มีเครื่องจักรเต็มพื้นที่ 7 ไร่ มีพนักงานหลายสิบคน ในส่วนของการผลิตต่อวันไม่ต่ำกว่า 22 ตัน ส่วนลูกค้าแบ่งเป็นลูกค้ารับจ้างผลิต หรือ OEM ซึ่งที่ผ่านมาผลิตถุงขยะแบรนด์ต่างๆ หลายสิบแบรนด์ และยังได้ลูกค้าที่เป็นองค์กรอย่างโรงพยาบาลมากถึง 98% ใช้ถุงขยะจากโรงงานของเรา

“การที่เราตั้งใจเข้าไปขายถุงขยะให้กับ โรงพยาบาลในครั้งนั้น เกิดขึ้นมาจากช่วงนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เราอยากให้ถุงขยะของเราได้เก็บสิ่งปฏิกูลของท่าน ได้ตอบแทนบุญคุณที่ท่านทำให้คนไทยและตัวผม ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะได้ขายถุงขยะให้กับโรงพยาบาลศิริราช และก็ทำสำเร็จ จนต่อยอดมาจนเป็นผู้ผลิตถุงขยะส่งโรงพยาบาลรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งการทำถุงขยะขายให้โรงพยาบาลได้ต้องได้ต้องเป็นถุงขยะที่ได้มาตรฐานจริง เพราะขยะส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเป็นขยะติดเชื้ออันตราย”

ปัจจุบันโรงงานของ “คุณจิรัฎฐ์” ก็มีถุงขยะให้เลือกในหลายแบบตามที่ลูกค้าต้องการ แม้จะเป็นถุงขยะแต่ก็ต้องมีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่สะดวกสบายของลูกค้า การเติบโตของธุรกิจถุงขยะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะทุกบ้านต้องมีขยะและบ้านไหนที่เคยใช้ถุงขยะต้องใช้ถุงขยะขาดไม่ได้ ในขณะที่บ้านไหนไม่เคยใช้ถุงขยะก็ยังคงจะไม่ใช้เหมือนกัน ในช่วงที่โมเดิร์นเทรดและร้านต่างๆ ยกเลิกการใช้ถุง ทำให้ถุงขยะของเราก็ขายได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และธุรกิจการผลิตถุงขยะจากเศษพลาสติกรีไซเคิล ก็ยังได้เข้าเกณฑ์อยู่ในกลุ่มของผู้ผลิตสินค้ารักษ์โลกด้วย

 

ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9660000065532 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2566