“Wunderman Thompson” (วันเดอร์แมน ธอมสัน) เปิดรายงาน “Future Shopper” ชุดที่ 3 ภาคต่อของซีรีส์ Future Pulse Survey วิจัยตลาดที่บูรณาการศาสตร์ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งข้อมูล การวิจัยผู้บริโภคเชิงคุณภาพ และการศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆ (Ethnography) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจริง โดยแยกแยะออกจากสิ่งที่เป็นเพียงกระแสหรือแนวโน้ม พร้อมนำเสนอภาพที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับโลกออนไลน์คอมเมิร์ซและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค สำรวจจากกลุ่มผู้บริโภคกว่า 31,000 คนใน 18 ประเทศ
สำหรับในประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาเชิงปริมาณกับผู้บริโภค โดยใช้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 1,084 คน ครอบคลุมทั้งกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ Gen X Gen Y และ Gen Z
มาเจาะลึก 10 พฤติกรรมนักช้อปไทยว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และกลยุทธ์แบรนด์ชนะใจผู้บริโภค
นักช้อปไทยคุ้นเคยเทคโนโลยี – ชอบ Work From Home – ช้อปออนไลน์แซงหน้าออฟไลน์
– ผู้บริโภคชาวไทย 95% ระบุว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ได้เข้ามาช่วยพวกเขาในการใช้ชีวิตช่วงปิดเมืองเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนให้การช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงมาแรงต่อเนื่องจนแซงหน้าการช้อปปิ้งออฟไลน์ได้ในที่สุด
– 96% ของผู้บริโภคไทยเห็นว่าการช้อปปิ้งออนไลน์จะมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้นในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วน “การใช้จ่ายออนไลน์” เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 25% ในปี 2563 เป็น 60% ในปี 2564 และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป แซงหน้าช่องทางออฟไลน์แล้วที่มีสัดส่วนจาก 75% ในปี 2563 ปรับลงมาอยู่ที่ 40% ในปี 2564
– 86% ของผู้บริโภคไทยเชื่อว่าพวกเขาจะใช้ช่องทางดิจิทัลในการช้อปปิ้งมากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต ด้วยความคุ้นเคยและการปรับตัวที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักอีกด้วย โดยจากผลการศึกษาพบว่าคนไทยกว่า 92% รู้สึกคุ้นเคยและมีความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยีดีจิทัลมากขึ้น
นอกจากนี้ คนไทยยังชื่นชอบความยืดหยุ่นของการทำงานจากที่บ้าน (Work from home)
– 82% ของผู้บริโภคไทยหวังว่าจะได้ทำงานจากที่บ้านมากยิ่งขึ้นในอนาคต
– 88% ของผู้บริโภคไทยช้อปออนไลน์บ่อยครั้งในขณะที่ Work From Home สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 69%
– 82% ของผู้บริโภคไทยค้นพบแบรนด์ใหม่ และร้านค้าปลีกใหม่ในขณะทำงานจากที่บ้าน
ผู้บริโภคไทยชอบช้อป “Omnichannel” – แบรนด์ต้องปรับตัวสู่ยุค Hybrid
แม้สัดส่วนการช้อปผ่านออนไลน์ จะแซงหน้าออฟไลน์ แต่ถึงอย่างไรผู้บริโภคไทยยังคงชอบที่จะซื้อสินค้าจากทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ดังนั้นแบรนด์ หรือผู้ค้าปลีกต้องปรับโมเดลการค้าสู่รูปแบบ Omnichannel
– 79% ของผู้บริโภคชาวไทยชอบจับจ่ายกับแบรนด์ที่มีทั้งหน้าร้านจริงและร้านออนไลน์ (Omnichannel) และพวกเขายังอยากให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อช่องทางต่างๆ อย่างราบรื่นแบบไร้รอยต่อได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
ดังนั้นแบรนด์และผู้ค้าปลีก (Retailer) จะต้องเตรียมพร้อมให้รอบด้านครอบคลุมในทุกมิติธุรกิจด้วยการใช้ “กลยุทธ์ Omnichannel” ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โดยต้องกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับช่องทางออฟไลน์และหน้าร้านจริง พร้อมกับยกระดับประสบการณ์ภายในร้านเพื่อเชื่อมต่อการช้อปปิ้งให้ราบรื่นแบบไร้รอยต่อ โดยเติมมิติทางดิจิทัลให้กับการช้อปปิ้งภายในร้าน เช่น
– การคิดเงินที่ลูกค้าทำได้ด้วยตนเอง หรือมีขั้นตอนที่ต่อเนื่องไร้การสะดุด การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส
– มีห้องลองเสื้อผ้าแบบอินเตอร์แอคทิฟ
– การเยี่ยมชมร้านแบบเสมือนจริง และประสบการณ์ช้อปปิ้งในร้านที่เสริมด้วยความจริงเสมือน (AR)
– บริการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อรับสินค้าที่ร้าน และการจองนัดที่ร้าน
ยิ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นของการทำงานที่บ้านทั้งเต็มเวลาและการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน (Hybrid work) ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือพฤติกรรมใหม่ในอนาคต แบรนด์และผู้ค้าปลีกยิ่งต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น นำเทคโนโลยี อี-คอมเมิร์ซใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับโมเดลธุรกิจแต่เนิ่นๆ, การนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการเฉพาะบุคคลมากขึ้น หรือการสร้างประสบการณ์ที่ตอบสนองพฤติกรรมต่างๆ อย่างเช่นการตัดสินใจซื้อจากแรงกระตุ้นตรงหน้า (Impulse Buying)
e-Marketplace ช่องทางอันดับ 1 เข้าถึงทุก Customer Journey แต่แบรนด์ควรสร้างสมดุลด้วย “D2C”
เมื่อเจาะลึกช่องทางที่สามารถเข้าถึง Customer Journey ได้ตลอดทั้ง 3 ขั้นคือ ขั้นแรงบันดาลใจ (Inspiration Stage) – ขั้นค้นหาสินค้า/แบรนด์ (Search Stage) – ขั้นการตัดสินใจซื้อ (Purchase Stage) พบว่า “e-Marketplace” เช่น LAZADA, Shopee กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่สามารถเข้าถึงตลอดทั้ง Customer Journey
– 65% ของผู้บริโภคไทยเข้าไปยัง e-Marketplace เพื่อหาแรงบันดาลใจ ขณะที่รองลงมาคือ Social Platform (48%), YouTube (31%)
– 73% ของผู้บริโภคไทยเข้าไปยัง e-Marketplace เพื่อค้นหาสินค้า หรือแบรนด์ รองลงมาคือ Social Platform (48%), Search Engine (33%)
– 51% ของผู้บริโภคไทยใช้จ่ายผ่านออนไลน์กับ e-Marketplace เป็นหลัก รองลงมาคือ แพลตฟอร์ม Aggregator ทั้งหลาย เช่น Grab, LINE MAN, Foodpanda (19%) และแพลตฟอร์มออนไลน์ของห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, โรบินสัน (17%)
ทั้งนี้ถึงแม้นักช้อปชาวไทยชื่นชอบการเลือกซื้อสินค้าหลากหลายกลุ่มได้ในแหล่งเดียว ซึ่งเป็นจุดเด่นของตลาด e-Marketplace แต่ก็พบว่านักช้อปก็อาจปันใจ ไปซื้อที่อื่นหากพบว่าได้ราคาที่ดีกว่า มีทางเลือกในการจัดส่งที่น่าสนใจกว่า หรือนำเสนอในแบบเฉพาะบุคคลได้มากกว่า
นอกจากนี้นักช้อปไทยยังมีข้อกังวลเรื่องสินค้าปลอม และรีวิวที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยพบว่า
– 30% เคยพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจเป็นของปลอม
– 26% เคลือบแคลงใจว่ารีวิวต่างๆ อาจไม่ใช่ความคิดเห็นที่แท้จริงของลูกค้า
อย่างไรก็ตามในขณะที่ e-Marketplace กลายเป็นช่องทางหลักของการช้อปออนไลน์ไปแล้ว ขณะเดียวกันแบรนด์ควรวางกลยุทธ์ “D2C” (Direct-to-Consumer) ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มของแบรนด์เอง เพื่อบาลานซ์ช่องทางการขายระหว่าง Own Platform กับการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอื่น
เพราะถึงแม้ e-Marketplace จะมีบทบาทอย่างไร แต่หัวใจสำคัญแบรนด์ต้องดึงการซื้อขายกลับมาที่แพลตฟอร์มของแบรนด์เอง รวมทั้งสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภค สร้างประสบการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้โดยตรง
Social Platform ต่อยอดสู่ “Social Commerce” เป็นมากกว่าเสพคอนเทนต์ความบันเทิง
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Social Media พัฒนาไปสู่การเป็นแพลตฟอร์ม “Social Commerce” ด้วยเช่นกัน และได้กลายเป็นช่องทางสำคัญของนักช้อปชาวไทย
– ประเทศไทยมีผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก (88%)
– Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทิ้งห่างแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งในด้านแนวโน้มที่จะซื้อ (62%) และประสบการณ์โซเชียลคอมเมิร์ซที่ดีที่สุด (62%)
– TikTok และ LINE มีการเติบโตอย่างน่าสนใจของการเป็น Social Commerce
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าบนช่องทาง Social Commerce มากขึ้น พบว่า
– ความง่ายในการซื้อ (44%)
– ราคา, โปรโมชั่น (40%)
– ข้อเสนอพิเศษ (35%)
เมื่อ Social Platform เป็นมากกว่าเรื่องของความบันเทิง และมีจุดเด่นตรงที่แบรนด์สามารถจบการซื้อจนเสร็จสมบูรณ์ หรือแม้แต่ขายพ่วงขายเพิ่มได้โดยไม่ต้องออกจากแพลตฟอร์มเดิม ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถใช้ Social Commerce เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงกลุ่ม ฟีเจอร์ใหม่ๆ และสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น Twitter Super Follows ช่วยทำให้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจยิ่งขึ้นและขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์กับผู้บริโภค พร้อมกับเปิดโอกาสให้แบรนด์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานั้นๆ
นอกจากนี้การซื้อขายผ่านการสนทนา (Chat หรือ Conversational Commerce) สามารถทำให้การบริการเฉพาะบุคคลกลายเป็นผลกำไร โดยเป็นการมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลในแบบเรียลไทม์ให้กับนักช้อปได้อย่างรวดเร็วและสะดวกง่ายดาย
นักช้อปไทยช้อปผ่าน “Livestream Commerce” Top 3 ของโลก
การไลฟ์ขายสินค้า (Livestream Commerce) เป็นเทรนด์ใหม่ซึ่งนักช้อปชาวไทย โดย Top 3 ผู้บริโภคทั่วโลกที่นิยมช้อปสินค้าเมื่อแบรนด์/ผู้ค้าปลีก Livestream Commerce คือ
– 77% ของผู้บริโภคจีนช้อปผ่าน Livestream Commerce
– 75% ของผู้บริโภคอินเดียช้อปผ่าน Livestream Commerce
– 72% ของผู้บริโภคไทยช้อปผ่าน Livestream Commerce
นี่จึงทำให้ Streamer หรือนักจัดรายการสดแบบ Livestream เป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตตีคู่ไปกับกลุ่มคนดัง (Celebrity) ในฐานะผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ซึ่งถือเป็นโอกาสของแบรนด์ ส่วนอิทธิพลของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL พบว่าเริ่มแผ่วลงเล็กน้อย
ดังนั้น แบรนด์ยังสามารถใช้ Livestream เพื่อเร่งให้เกิดการซื้อผ่านการนำเสนอบริการที่ดีกว่า โดยนำแง่มุมเรื่องความสะดวกมาช่วยยกระดับการ Livestream ซึ่งนอกจากการพูดคุยเรื่องผลิตภัณฑ์และราคาแล้ว การเอ่ยถึงเรื่องบริการต่างๆ ด้วย เช่น การจัดส่งด่วน จะช่วยให้ชนะใจนักช้อปได้
ขณะเดียวกันคอนเทนต์จากการ Live ก็ไม่จำเป็นต้องหมดคุณค่าเมื่อช่วงเวลาของการ Live สิ้นสุดลง เพราะนักช้อปให้ความสำคัญกับรีวิวและข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างมาก จึงสามารถนำคอนเทนต์จาก Livestream มาช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับหน้าผลิตภัณฑ์ หรือทำให้คอนเทนต์บน Social Media ดูน่าสนใจ และสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
“ความสะดวก – ง่าย – เร็ว” ปัจจัยสำคัญมากกว่าราคา – แบรนด์ควรสร้างเส้นทางการซื้อขายที่สั้นกระชับ
แม้ช้อปปิ้งออนไลน์จะห่ำหั่นกันด้วยราคา แต่สิ่งที่นักช้อปไทยให้ความสำคัญมากกว่าราคา คือ “ความสะดวก – ความง่าย – ความรวดเร็ว” ถ้าแบรนด์ หรือผู้ค้าปลีกสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ จะสร้างประสบการณ์การช้อปที่ดีให้กับลูกค้า และสามารถสร้าง Brand Love ได้ในระยะยาว
ดังนั้นแบรนด์ควรสร้าง “เส้นทางการซื้อขายที่สั้นกระชับ” (Compressed Commerce) ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเรื่องสำคัญ โดยจะต้องช่วงชิงการเป็นผู้จุดแรงบันดาลใจ แล้วรีบชักนำผู้บริโภคเข้าสู่ช่วงของการค้นหาและการซื้ออย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวไทยเป็นนักช้อปออนไลน์ที่ใจเร็ว และต้องการความไวที่สุด ผลสำรวจพบว่า
– 95% ต้องการก้าวจากช่วงของแรงบันดาลใจไปสู่ช่วงของการซื้อให้รวดเร็วที่สุด
– การบริการลูกค้า ความรวดเร็วในการจัดส่ง และความง่ายในการค้นหาผลิตภัณฑ์ (98% เท่ากันทั้งหมด) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกในการตัดสินใจ โดยอยู่เหนือปัจจัยด้านราคา (97%)
การได้ลูกค้าและรักษาฐานนักช้อป กลยุทธ์ช่องทางจำหน่ายที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักช้อปได้อย่างสมดุลจะต้องเอื้อให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์และเลือกช้อปปิ้งบนช่องทางใดก็ได้ เมื่อไรก็ได้ และจากที่ใดก็ได้ที่ต้องการ เพราะนักช้อปอาจจะพบแรงบันดาลใจ เริ่มค้นหา และตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางต่างๆ อย่างหลากหลาย และพวกเขายังคาดหวังอีกด้วยว่าแต่ละช่องทางจะต้องเติมเต็มความต้องการได้ครบทุกช่วงตลอดเส้นทางการซื้อ
แบรนด์และผู้ค้าปลีกจะต้องร่นระยะเส้นทางลูกค้าให้สั้นลงเพื่อให้พวกเขาตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นพวกเขาอาจหลุดมือไประหว่างเส้นทาง ซึ่งตัวช่วยต่างๆ เช่น การจบทุกขั้นตอนการซื้อได้ในปุ่มเดียว การบันทึกข้อมูลส่วนตัว การเข้าดูรีวิวและคะแนนความพึงพอใจได้ง่าย จะช่วยให้พวกเขามุ่งตรงจากแรงบันดาลใจสู่การซื้อได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องตระหนักว่าราคาไม่ใช่ทุกสิ่งเสมอไป เพราะการบริการลูกค้าคือสิ่งที่พิชิตใจนักช้อป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยกระดับประสบการณ์โดยรวม และไม่ทุ่มเทกับการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงทุนเพื่อแข่งขันในเรื่องความรวดเร็ว ความง่ายในการค้นหาสินค้า และความใส่ใจต่อนักช้อปและความต้องการของพวกเขา การสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์ผ่านบริการลูกค้าที่ดีเยี่ยมจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของนักช้อปอย่างต่อเนื่องได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงได้ลูกค้าใหม่และดึงดูดให้พวกเขาหวนกลับมาซื้ออีก
นักช้อปออนไลน์ ให้ความสำคัญกับการจัดส่งรวดเร็ว – ยืดหยุ่น – ติดตามคำสั่งซื้อได้
“การจัดส่ง” กลายเป็นส่วนสำคัญในการมอบประสบการณ์ที่ดีสู่นักช้อป และนับวันผู้บริโภคจะยิ่งไม่ทนกับประสบการณ์ที่แย่ๆ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ด้านการจัดส่งที่ตรงใจนับว่ามีความสำคัญอย่าง ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า
– สิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยอยากเห็นการปรับปรุงมากที่สุดในเรื่องของการจัดส่ง คือ การจัดส่งรวดเร็วขึ้น (58%) และค่าจัดส่งถูกลง (50%)
– ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าภายใน 2 – 3 วันนับจากที่สั่งซื้อ และโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคชาวไทยจะไม่ทนรอการจัดส่งที่ใช้เวลานานเกิน 6 วัน
ยิ่งทุกวันนี้นักช้อปมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อ และหากพวกเขาไม่ได้รับบริการที่คิดว่าสมควรได้รับ ก็พร้อมจะย้ายไปที่อื่นในทันที
ดังนั้นการมอบประสบการณ์ในการจัดส่งที่ดีคือส่วนสำคัญในความคาดหวังของผู้บริโภค แบรนด์จึงต้องวางแผนการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งมีสินค้าพร้อมส่ง, การจัดส่ง, การมอบทางเลือกในการจัดส่งที่มีความยืดหยุ่น, การติดตามคำสั่งซื้อผ่านระบบของแบรนด์ และการติดตามเส้นทางการจัดส่งได้ในแบบเรียลไทม์ รวมไปถึงขั้นตอนการคืนสินค้า ซึ่งช่วยยกระดับประสบการณ์ความพึงพอใจให้กับลูกค้า
ผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และมี Purpose ในการทำธุรกิจ
นักช้อปคาดหวังให้แบรนด์ดำเนินธุรกิจบนแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ลดทอนคุณภาพด้านการบริการลง ผลสำรวจพบว่า
– ประเทศไทยครองอันดับ 1 ทั่วโลก โดยนักช้อปถึง 83% ระบุว่าจะเลือกซื้อกับแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
– 83% ยังต้องการให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมีวิธีปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น เช่น ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์น้อยลง สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยลง และใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดส่ง
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต้องระมัดระวังด้วยการไม่อวดอ้างความรักษ์โลกจนเกินจริง เพราะจะเสี่ยงต่อการดูเสแสร้งและทำให้ผู้บริโภคตีตัวออกห่าง นอกจากนี้แนวทางในการฟื้นฟูยังจะส่งให้แบรนด์ก้าวขึ้นนำหน้าคู่แข่งได้ ซึ่งหลายๆ แบรนด์กำลังบุกเบิกโครงการต่างๆ ที่มิเพียงลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นและเยียวยาความเสียหายต่างๆ ที่ได้เคยก่อไว้กับโลกอีกด้วย
Gaming – Metaverrse – NFT คือ โอกาสสำคัญของแบรนด์และธุรกิจ
เกมออนไลน์ หรือโลก Gaming (เกมมิ่ง) ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูงที่แบรนด์สามารถสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการในวงกว้าง ไปจนถึงสร้าง Engagement กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันยอดขายได้เลยทีเดียว
– 98% ของนักช้อปชาวไทยเล่นเกมออนไลน์ ดังนั้น เกมคือแพลตฟอร์มเข้าถึงนักช้อปได้แทบจะครบถ้วนทุกเพศและกลุ่มอายุ
ขณะที่อุปกรณ์การเล่นเกมออนไลน์พบว่า
– 90% เล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ
– 63% ผ่านคอมพิวเตอร์
– 31% ผ่านคอนโซล
– 16% ผ่านอุปกรณ์ Virtual Reality
นอกจากนี้พบว่านักช้อปไทย ยังใช้ Metaverse ในการซื้อสินค้า
– 38% ของนักช้อปชาวไทยบอกว่าเคยใช้ Metaverse เพื่อซื้อสินค้าออนไลน์มาแล้ว หรือยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
ส่งผลให้นิยามของ “ผู้บริโภค” อาจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากความหมายดั้งเดิม โดยมีความไร้ตัวตนที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น และในอีกไม่ช้าเราอาจจะทำตลาดและขายสิ่งต่างๆ ให้กับผู้บริโภคที่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป แต่เป็น “อวตาร์” ของพวกเขาในโลก Gaming หรือ Metaverse
ขณะเดียวกัน “NFT” ก็เป็นสิ่งที่ต้องคอยจับตาต่อไปด้วยเช่นกัน จากการที่นักช้อปชาวไทยดูจะมีทั้งความเข้าใจว่า NFT คืออะไร (75%) และความประสงค์ที่จะซื้อ NFT (84%) สูงกว่านักช้อปทั่วโลกโดยเฉลี่ย (47% และ 70% ตามลำดับ)
ในส่วนของความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น พบว่า Gen Y เป็นผู้นำในด้านการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการช้อปปิ้ง ขณะที่ Gen Z เป็นกลุ่มหลักในเรื่อง Metaverse แต่นักช้อปรุ่นสูงอายุกว่าก็เป็นกลุ่มที่มองข้ามไม่ได้ในหลายด้านเช่นกัน เช่น ชีวมิติ (Biometrics) หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการจำแนกอัตลักษณ์ ทางกายภาพของบุคคล ตลอดจน สกุลเงินคริปโต
เพราะฉะนั้นการเจาะเข้าสู่โลก Gaming จะช่วยให้แบรนด์มุ่งสู่เป้าหมายทางธุรกิจของตนได้สำเร็จ เช่น โฆษณาในเกม ความร่วมมือกับเกมต่างๆ และการใช้ Streamer เป็นตัวอย่างของวิธีการที่จะช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ สร้างการมีส่วนร่วมของนักช้อป หรือแม้กระทั่งขับเคลื่อนยอดขายได้
ในการเตรียมพร้อมสำหรับผู้บริโภคในอนาคตที่อาจจะก้าวข้ามสิ่งที่จับต้องได้ และเริ่มมองเห็นมูลค่าของสิ่งของดิจิทัล แบรนด์และผู้ค้าปลีกมีโอกาสที่จะขยับขยายผลิตภัณฑ์และบริการของตนไปสู่การเปิดรับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเมตาเวิร์ส (Metaconomy) ที่ขับเคลื่อนด้วย NFT กำลังก่อตัวขึ้น
รวมถึงมีเสียงเรียกร้องให้สกุลเงินคริปโตเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีสกุลเงินดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลระดับชาติ ก็อาจนำไปสู่การปฏิวัติวิธีการที่ผู้บริโภคใช้ในการชำระเงิน
ยิ่งไปกว่านั้นการอุบัติขึ้นของ Direct-to-Avatar หรือ D2A ซึ่งเป็นโมเดลของสินค้าหรือบริการที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้ร่าง Avatar โดยเฉพาะ ได้ทำให้แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ได้คว้าโอกาสเริ่มลงมือทำกันอย่างจริงจังแล้ว เช่น Gucci, Ralph Lauren และ American Eagle
อย่าหลงลืมนักช้อป “Silver Gen – Gen X”
แบรนด์อย่าหลงลืมนักช้อป Silver Gen และนักช้อป Gen X เพราะผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้มีพลังการจับจ่ายสูง และปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ดี สามารถเป็นแหล่งนักช้อปกลุ่มสำคัญให้กับธุรกิจได้
โดยผู้บริโภคกลุ่ม Silver Gen มีทั้งเวลาและกำลังซื้อ เช่นเดียวกับ Gen X ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถ adapt เข้ากับเทคโนโลยีได้ดี เพราะฉะนั้นแบรนด์ควรทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจได้
ที่มา: https://www.marketingoops.com/reports/future-shopper-wunderman-thompson-report