“มีงานวิจัยบอกว่าประมาณ 70% “ของ” ที่เราไปเดินซื้อ เป็นของที่ไม่ถูกวางแผนมาก่อน แต่ไปซื้อเนื่องจากตัวบรรจุภัณฑ์เองหรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณเกือบ ๆ 145 ล้านบาท ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละประมาณ 270 เกือบ 272 (ร้อยละ)
มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ ๆ 20 ล้าน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นปีละ 7 ราย อันนี้ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย(SME) ก็ถือว่ามี Impact ค่อนข้างดีทีเดียว ในเชิงของเศรษฐกิจในส่วนที่บรรจุภัณฑ์ช่วย” คุณรัชนีเพ็ญ เพ็ญสิทธิ์ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. เผยถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ปัจจุบันนี้เรื่องของแพคเก็จจิ้งหรือว่า “บรรจุภัณฑ์” มีส่วนช่วยอย่างมากในการเพิ่มยอดขายตลอดจนการดึงดูดความสนใจให้กับตัวสินค้าได้เป็นอย่างดี แทนที่ว่าจะขายเป็น “วัตถุดิบ” ก็เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงาม สามารถจำหน่ายได้ราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้นมากกว่า ผอ.ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ยังบอกด้วยว่า ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอยู่ภายใต้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) มีภารกิจหลักก็คือ ทำงานทางด้านเกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์ เพื่อที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบรรจุภัณฑ์ และก็การลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์จากการขนส่ง การบรรจุ การจำหน่าย ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น “เราก็ให้บริการตั้งแต่ การบริการทดสอบในส่วนของเป็นวัสดุสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ แล้วพอขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์หรือกล่องเสร็จปุ๊บอยากได้ความแข็งแรง ความทนทานแบบไหน ก็เอามาทดสอบดูว่าสิ่งที่เราออกแบบมานี้มันเป็นไปตามที่ เราต้องการหรือไม่ พอตัวกล่องเปล่า ๆ มีคุณสมบัติเป็นไปตามต้องการแล้ว ก็มาดูอีกว่าตอนบรรจุของเข้าไปแล้วเนี่ยเวลาขนส่งจริง ๆ มันจะสามารถรักษาความปลอดภัยของ “ของ” ที่อยู่ข้างในได้จริงหรือเปล่า”นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันเราก็เห็นว่าตัวบรรจุภัณฑ์เองยังมี “หน้าตา” หรือรูปลักษณ์ที่ชวนต่อการชวนให้คนอยากมาซื้อ“เพราะฉะนั้นเราก็จะมีในส่วนของ Lab ที่ออกแบบวิจัยและก็พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ออกแบบกราฟิก ออกแบบตัวโครงสร้าง ทำให้รูปลักษณ์หน้าตาน่าสนใจ เรามีทั้ง Lab ทดสอบมีทั้ง Lab ออกแบบวิจัย มีนักออกแบบที่สังกัดอยู่ของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยด้วย”
เพราะฉะนั้นความครบวงจรจะมี ใน Lab ของเอกชนอาจจะให้บริการในเรื่องของการทดสอบ ก็ทดสอบไป ในส่วนที่เขาทำออกแบบก็เป็นบริษัทออกแบบ แต่ไม่มี Lab เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็จะเกิดแก๊ปอยู่ตรงกลางว่า สมมุติเขาออกแบบจะทำกล่องขึ้นมาแล้ว ตัวแค่กล่องเปล่า ๆ ก่อน ออกแบบเสร็จแล้ว แล้วตัวกราฟิกล่ะ มันจะเหมาะสมกันไหม ตำแหน่งไหนถึงจะดูดี“เพราะฉะนั้นพอออกแบบตัวกล่องเสร็จ เวลาไปออกแบบตัวกราฟิก กล่องกับกราฟิกมันก็อาจจะไม่แมตซ์กัน แต่ของเราจะทำมาตั้งแต่แรกเลย รูปทรง สัณฐานมันมา รวมทั้งคุณสมบัติที่ต้องการ หรือกระทั่งตัววัสดุที่จะเอามาใช้”อันนี้ก็จะเป็นความครบวงจรนอกจากนี้ยังทำไปถึงจำลองการขนส่งจริง ๆ เพราะฉะนั้นมันก็ตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ประกอบการก็มาที่เดียวแล้วครบวงจรไปเลยหรือสมมุติว่ามีผัก ผลไม้ ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากพวกอาหารแปรรูป อายุมันจะสั้น มีความช้ำ/เสียหายได้ง่าย ที่ศูนย์ฯ ก็สามารถที่จะออกแบบและก็เอามาทดสอบที่ Lab ของศูนย์ฯ ได้เลย ที่เดียวไม่ต้องเสียเวลา ก็ลดต้นทุนของผู้ประกอบการไปได้
เพิ่มโอกาสธุรกิจเล็ก-ใหญ่ สร้างยอดขายดีจากการมี “มาตรฐาน”
ก็จะมีตั้งแต่อุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตเลย ผลิตกล่อง ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานก็จะมีในระดับที่เป็นผู้ใช้งานแบบเอาของมาบรรจุลงกล่อง ผู้ใช้งานแบบที่เป็นส่วนของโลจิสติกส์-ขนส่ง เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนก็มี“ก็ได้ตั้งแต่เป็นระดับอุตสาหกรรมไปเลย จนกระทั่งถึงวิสาหกิจชุมชนเราก็ให้บริการ แล้วแต่ว่าเขาจะสนใจทางด้านไหน อย่างผู้ประกอบการในส่วนของที่เป็นอุตสาหกรรมเลยก็จะเน้นเรื่องการทดสอบตัวบรรจุภัณฑ์ เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นวิสาหกิจชุมชนก็จะสนใจในเรื่องการออกแบบ เราสามารถที่จะให้ consult กับผู้ประกอบการได้แทบจะทั้งหมดเลย”มีความต้องการแล้ว มีอ้างอิงมาตรฐานของประเทศนั้นประเทศนี้อันนี้ก็จะง่าย แต่ถ้ามีความต้องการโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง อันนี้อาจจะมาทำวิจัยร่วมกันได้ บอกความต้องการมา แล้วทางศูนย์ฯ ก็จะไปหาดูว่ามันมีมาตรฐานอะไรที่เขาสามารถจะใช้อ้างอิงได้ ก็จะตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ หรือแม้กระทั่งการทดสอบปกติแล้วเขาจะบอกว่าทำการทดสอบตาม GIS ของญี่ปุ่น ตาม ASTM หรือตาม มอก.ของประเทศไทย“มันจะง่ายมากเพราะว่าจะรู้แล้วว่า 1, 2, 3 ทำอะไร แต่อย่างที่เราเห็นไม่ว่าจะในตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทไหน ของมันจะออกมาเร็วกว่ามาตรฐานเสมอ เพราะฉะนั้นบางครั้งลูกค้าก็จะเข้ามาบอกว่าเนี่ยมี ทำอันนี้ออกมาใหม่ อยากจะเทสต์อันนี้มีมั้ย บางทีเครื่องมันอาจจะไม่ได้ตรง ตรงนั้นเป๊ะ ๆ เราก็สามารถจะปรับปรุง เอามาทดสอบเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ โดยอ้างอิงจากหลักในทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง หลักในทางมาตรวิทยาที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้ผลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด”
ปรับตัวเท่าทันโลกการแข่งขัน ด้วย “นวัตกรรม” ที่ตอบโจทย์
อย่างช่วงโควิดฯ ก็จะมีกล่องต้นไม้ มีกล่องมะม่วง ที่เราจะเห็นว่าผู้ประกอบการที่เป็นชาวสวนจริง ๆ เขาขายไม่ได้เพราะว่าตลาดปิดหมดเลย “เราก็มีออกแบบกล่องสำหรับใส่ ดูจากภายนอกมันจะเหมือนกล่องทั่วไปแต่จริง ๆ แล้วมันมีความแข็งแรง ออกแบบให้มีความแข็งแรง ออกแบบพาร์ทิชันที่แบ่งข้างในไม่ให้ผลไม้เกิดความช้ำ นอกจากนี้แล้วเนี่ยเวลาขนส่งบริษัทที่รับขนส่งเขาก็พยายามที่จะบรรจุไปในรถขนส่ง แต่ละเที่ยวให้มันเต็มเพราะว่ามันก็จะเป็นการคุ้มค่าสำหรับเขาในการบริหารการขนส่ง เราก็ออกแบบให้มันสามารถที่จะซ้อนหลาย ๆ ชั้นได้โดยที่ไม่ทำให้มะม่วงช้ำ”แต่ในส่วนของการลด “การสุก” ก็จะนำมาสู่ในส่วนของที่การออกแบบกล่องทุเรียน สำหรับผลไม้แกะพูอย่างทุเรียน หรือผลไม้สด กล่องอันนี้จะปิดสนิทมันจะช่วยลดอัตราการหายใจลง แต่ก็จะเหมาะสำหรับการขนส่งแบบเย็นเป็นโค-เชน พวกนี้
“ผู้ประกอบการก็มีโจทย์ ในส่วนของการขายทุเรียนแกะพู ก็เข้าร่วมโครงการแล้วก็มาร่วมวิจัยกับทาง วว. ว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไรบ้าง เพราะว่าเราน่าจะจำได้สมัยแต่ก่อนเราจะมีกล่องที่ขายอยู่ตามท้องตลาดอยู่แล้ว มันจะบาง ๆ หน่อยเวลาจะปิดก็ต้อง อาจจะต้องเอาแม็กซ์เย็บหรือเอาสก๊อตเทปปิดอะไรอย่างเงี้ยค่ะ ซึ่งมันไม่ช่วยในเรื่องของกลิ่น” หรือแม้กระทั่งกล่องทุเรียนถ้าไปสั่งตามร้านที่เขาแกะทุเรียนขาย เราจะเห็นว่ามันมีช่องว่างระหว่างฝาอยู่ หรือบางอันก็เจาะรูเลย แทนที่จะเก็บ “กลิ่น” มันก็ไม่เก็บกลิ่น หรือปิดสนิทแต่ว่าพอเอาใส่ถุงหิ้ว ๆ มาพอขยับ ๆ ปุ๊บฝามันก็เปิด “กลิ่น” มันก็ออกมา เอาขึ้นรถเมล์ก็ไม่ได้ ขึ้นแท็กซี่ก็ไม่ได้“อันนี้เขาก็สนใจในเรื่องของการรักษา การเก็บกลิ่น ไม่ให้ออกมา หรืออยู่ที่บ้านอาจจะมีคนชอบทุเรียน ไม่ชอบทุเรียน ก็จะมาทำงานร่วมกับนักวิจัยของเราในส่วนของการออกแบบ เพื่อที่จะให้ตอบโจทย์ของเขาแล้วก็จะได้เป็นกล่องเก็บกลิ่นทุเรียนอันนั้นมา”วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของการออกแบบก็คือ การเก็บกลิ่น ไม่ให้รั่วไหลออกมาข้างนอก การมาร่วมมือกันครั้งแรกของผู้ประกอบการคือเขามีโจทย์ ทางศูนย์ฯ เองมีอุปกรณ์ facility ทั้งหลายแหล่แต่ว่าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป มันจะไปด้วยกันไม่ได้ ก็เป็นการทำงานแบบทำงานร่วมกัน“ผู้ประกอบการเองก็มีไอเดียที่ดี ที่จะไปต่อยอดแก้ปัญหาให้ลูกค้าของผู้ประกอบการอีกทีหนึ่ง เราจะเห็นพัฒนาการมาได้ว่า ในปีแรก ๆ เขารับถ่ายทอดไปเสร็จปุ๊บเขาก็ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบไปนั่นแหละ แต่วันนี้ลองไปดูค่ะมีความหลากหลายมากขึ้น”
สุดยอดนวัตกรรม “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน”!!!
คุณไนน์-สุชัญญ์ญา ไชยชมภู จากบริษัท เซฟเฟอร์ แพค(ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการแข่งขันทางด้าน “ราคา” สำหรับการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ในท้องตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในส่วนของโรงงานผลิตอย่างตนเองพยายามที่จะหาทางใหม่“มีการก๊อปปี้เหมือน ๆ กันหมด เราก็จะเจอสงครามราคา พอเป็นสงครามราคาเราก็เลยรู้สึกว่าเอ๊ะเราน่าจะมีกล่องที่มี “นวัตกรรม” เข้ามาเพื่อช่วยตอบโจทย์ของการขายบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น”ตอนแรกก็คือมีผู้ประกอบการมาถามว่า พอไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตมีคนที่ชอบกลิ่นทุเรียน กับคนที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียน พอมันเป็นแบบนี้บริษัทก็เลยมาเริ่มต้นกับทางศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยฯ มาปรึกษากับทาง ดร.ศิริวรรณ ตั้งแสงประทีป นักวิจัยอาวุโสศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว.“ว่าเราจะมีนวัตกรรมเรื่อง “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน” ยังไงได้บ้าง เพื่อจะตอบโจทย์เรื่องของปัญหาการขายทุเรียนแบบแกะพร้อมทานได้” เริ่มต้นตอนแรกเลยจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่แกะทุเรียนส่งออก เพราะเขาก็เริ่มมีปัญหาว่าค่าขนส่งโดยเครื่องบินหรืออะไรต่าง ๆ แพง แล้วก็คือปัญหา “ทุเรียนอ่อน” เขาก็เริ่มมีวิธีการว่าทุเรียนที่เขาแกะออกมาอีกด้านหนึ่งก็คือ เป็นทุเรียนแช่แข็ง แล้วมันก็มีคำถามว่า ราคาของทุเรียนแช่แข็งกับทุเรียนสด ราคาต่างกัน ทุเรียนสดแพงกว่า ทำไมเราต้องเอาไปทำแช่แข็งหมด ทำไมไม่เอาพาร์ทหนึ่งของทุเรียนที่แกะออกมาคัดแล้วขายเป็นทุเรียนสด “ก็เลยเป็นที่มาว่าช่วงแรก ๆ ก็คือลูกค้าที่มาดิวกับทางไนน์นะคะ ก็จะเป็นผู้ประกอบการค้าขายแบบส่งออก แล้วช่วงนั้นก็เป็นเทรนด์ตอนช่วงโควิดฯ พอดีก็คือ การขายทุเรียนนี่คือคนจะออกไปข้างนอกอะไรก็ยุ่งยากไปหมดเนี่ย ก็เลยทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มพวกนี้เริ่มมาใช้ พอเริ่มมาใช้มันก็เลยเป็นเหมือน worth of mouth ผู้ประกอบการที่แกะทุเรียนธรรมดา ๆ ทั่วไป คือมีแผงขาย ก็เริ่มใช้กล่อง”
ช่วงที่ผ่านมาปัญหาอันหนึ่งที่บริษัทประสบมาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ โควิด-19 ฉะนั้นตอนนั้นเองคือเทรนด์เรื่อง ยิ่งใส่ยิ่งปลอดภัย เข้ามาก็เลยทำให้มีความมั่นใจเข้าไปอีกว่า กล่องที่บริษัททำออกมานี้ตอบโจทย์“เพราะว่าเรามองเห็นสินค้ารอบทิศทางเลยก็คือ ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านก้น คือเราไม่มีโอกาสที่จะ fake กับลูกค้าได้เลยว่านี่คือของไม่ดี” และก็อีกอันหนึ่งของเทรนด์ของการทานทุเรียนก็คือ ทุกคนจะชอบไม่เหมือนกัน พี่อาจจะชอบกรอบนอกนุ่มใน คนนี้ชอบนิ่ม คนนี้ชอบห่าม ฉะนั้นคือผู้ประกอบการที่แกะทุเรียนเองก็มีสิทธิ์ ที่จะแกะและคัดพูทุเรียนได้ตามที่ลูกค้าต้องการ
ลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย เพิ่มโอกาสด้าน “ราคา”
เริ่มต้นจากกล่องขนาด 750 กรัม ก็มีประเด็นต่อมาอีกมีลูกค้าทางฝั่งต่างประเทศซึ่งเขาอยากจะคัดทุเรียนแบบเบญจพรรณ เป็นทุเรียนพูสวย ๆ แต่อาจจะลูกเล็ก ฉะนั้นการใส่แบบนี้(กล่อง 750 กรัม) ก็อาจจะเยอะไปอีก ก็เลยต้องมีการพัฒนาเพิ่มเป็นกล่องสำหรับใส่ทุเรียน1 พู เป็นเฉพาะพู ซึ่งตัวนี้ก็เริ่มต้นส่งไปที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็คือคนญี่ปุ่นเขาจะทานทุเรียนเป็นพู ๆ ครอบครัวหนึ่งอาจจะทานแค่ 1 พู เขาไม่ได้ทานเยอะเหมือนคนไทยเรา ก็เป็นที่มาของกล่องตัว 1 พูตัวนี้ แต่พอมาถึงเทรนด์คนไทยเรา(นิยมซื้อเป็นลูก) จะเอากลับบ้านทั้งหมดอยากให้แกะ ก็มีกล่องขนาดบรรจุ 1 กก.ด้วย ตอบโจทย์เลยเพราะกล่องตัวนี้สามารถบรรจุได้1-1.5 กก. ก็คือสามารถแกะทุเรียนทั้งผลของ 4 กก. เข้าไปอยู่ในกล่องนี้ได้เลย คนก็หิ้วกลับไป“ลูกค้าที่ทำทุเรียนออนไลน์อยู่เขาก็มาตกแต่งทำเป็นกล่องข้างนอกสวยงามดูมีราคา พรีเมียมขึ้นมาอีกแบบหนึ่งเลย ขายกันกล่องหนึ่ง 2,500 พิมรี่พายขาย 5,000 น่ะค่ะ ก็คือมันก็เพิ่มมูลค่าของกล่องขึ้นมา” แล้วก็ตัวนี้น้องใหม่ล่าสุด(ขนาดบรรจุ 2 พู) เพิ่งออกมาปีนี้ เป็นกล่องที่ตอบโจทย์สำหรับการแกะทุเรียนส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากว่า shape ของกล่องรุ่นแรกปากจะบาน เวลาบรรจุลงไปในกล่องโฟมก็คือมันจะติด/กินพื้นที่ ก็จะเสียพื้นที่ก็เลยมีการพัฒนากล่องขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่ร่วมพัฒนากับทาง วว. ก็คือตัวนี้กล่องมันจะแคบลง อันนี้ก็เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกันเพิ่มเติมขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง
แล้วก็ในเรื่องของการขายทุเรียนอย่าง เราปกติทุเรียนแหล่งผลิตหรือผู้ผลิตเองก็มีอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด จันทบุรี ระยอง(ช่วงของภาคตะวันออก) ทีนี้ของที่มาจากตรงนั้นก็มีส่วนหนึ่งที่ต้องการเอาไปส่งทางภาคเหนือ หรือภาคใต้ในจังหวะที่เราจะเป็นของฝากไป มันจะต้องไปด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเข้าไปช่วยมีบทบาทตรงนั้น ถ้าไม่มีบรรจุภัณฑ์มันจะไปยังไง แล้วก็มีระบบของห้องเย็น“เมื่อก่อนเราก็จะเห็นแต่ระบบขนส่งที่เป็น อุณหภูมิปกติ ก็จะเริ่มมีบริษัทที่ทำระบบขนส่งแบบห้องเย็นเข้ามาช่วย ทำให้สินค้าเกษตรเพิ่มหรือขยายไปตามพื้นที่ห่างไกลได้ด้วย อันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มาร่วมกันที่ก่อให้เกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ทุกวันนี้ ไนน์ก็กล้าพูดได้ว่าอย่างกล่องเก็บกลิ่นตัวนี้ก็ร่วมกับบริษัทขนส่งห้องเย็นชื่อ อินเตอร์เอ็กซ์เพรส ที่มา join เขาก็ให้ความสำคัญว่า ถ้าลูกค้าจะแพ็คแกะทุเรียนก็คือสามารถใช้กล่องกระดาษและก็ใช้รถห้องเย็นของเขาได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาใช้กล่องโฟมก็คือโดยมีกล่องตัวนี้เป็นตัวใส่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นทุเรียนอยู่”
ถามว่า “ราคา” สูงกว่า แต่ถามว่าแพงมั้ย? ต้องถามไปกับทางผู้ประกอบการที่แกะทุเรียนขาย “ไนน์ถามมาหลายคนแล้วเขาบอกว่า พอยืดอายุในเรื่องของการจัดจำหน่ายให้เขาแล้วเนี่ย คำว่าแพงมันไม่ได้แพงแล้ว มันเป็นเรื่องของการที่จะตอบโจทย์ว่าเขามีโอกาสในการขายมากขึ้น กับของที่เขาต้องเสียลง เขาก็ตอบว่าไม่แพง ทีนี้พอแชร์เรื่องพวกนี้ไนน์อธิบายไปในส่วนของการเอากล่องตัวนี้ มีลูกค้ารายหนึ่งของไนน์เขาไม่ได้เอาใส่ทุเรียน แต่เขาเอาไปใส่ผักสลัดนำเข้า นั่งเครื่องมาเลยจากออสเตรเลียเป็นผักพร้อมทาน ทีนี้ปัญหาของเขาก็คือใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว 2 วัน ผักเสียหายหมดเลย แต่พอมีโอกาสได้เอากล่องของเราไปใช้เริ่มต้นเป็นตัวนี้ เอาไปใช้เนี่ยปรากฏว่าก็เก็บได้ประมาณ 7-10 วัน โดยที่สินค้าเขาไม่มีความเสียหาย เขาก็ไม่ได้โดนห้างฯ เคลม ทีนี้สินค้าปกติขายอยู่กล่องนึงประมาณ 89 บาท ถามกลับกันเมื่อกี้ที่ถามว่าแพงมั้ย คือจากที่ 2 วันเสียเลย 89 บาทหายเลย! แต่ตอนนี้ก็คือสินค้ายังอยู่ได้ 7-10 วัน สามารถขายต่อได้โดยที่ราคาก็ยังได้ 89 บาท”ตรงนี้ก็คือความแพงก็ไม่เกิดขึ้นแต่ถามว่า ในมูลค่าสินค้า ณ ปัจจุบันที่บริษัทขายอยู่อย่างกล่องชุดนี้(ขนาด750 กรัม) ราคาอยู่ที่ 15 บาท/เซ็ต ที่ขายปลีกอยู่
ติดปีกยอดขายให้กับสินค้า บรรจุภัณฑ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง!
ผู้ประกอบการจากบริษัท เซฟเฟอร์ แพค(ประเทศไทย) จำกัด ยังบอกด้วย ก็เป็นเรื่องของความร่วมมือในเรื่องของการประสบความสำเร็จในการค้า กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน ณ ตอนนี้ก็คือ มันไม่ได้มีแค่ว่าการผลิตกล่องให้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างเดียว มันยังมีเรื่องของทีมงานอีกหลาย ๆ ส่วนที่เข้ามาเป็นตัวผลักดัน การคัดทุเรียนที่มีคุณภาพ การดูแลต้นของทุเรียนตั้งแต่ต้นทางให้มีความอร่อย “เพราะว่าจริง ๆ ก็ต้องบอกเลยว่า “ทุเรียน” ก็คือเป็น King of fruit เป็นของประเทศไทยเลย ฉะนั้นไนน์ก็มองจุดเริ่มต้นก็คือกล่องตัวนี้ก็คือมองว่าถ้าเราสามารถทำให้หน้าตาของประเทศคือผลไม้ตัวนี้ ตัวทุเรียนเนี่ย เป็นตัวที่สามารถที่จะสร้างมูลค่าให้ได้เนี่ย การที่จะพัฒนาเรื่องของนวัตกรรมกล่องที่จะร่วมต่อกับ วว.เองก็น่าจะเดินหน้าขึ้นไปต่อได้อีก ในอีกตัวอื่น ๆ เพราะว่าไนน์มองว่าบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยเรา จริง ๆ คือสินค้าไทยเราเยอะมาก แต่ปัญหาเรื่องของบรรจุภัณฑ์เราจะสังเกตว่า เรามีผลิตภัณฑ์อาหารเยอะมากเลย แต่บรรจุภัณฑ์ยังไม่ได้ดูทำให้มีมูลค่า” ทีนี้ก็มองในมุมของผู้ประกอบการที่ทำบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์บ้านเรากับสินค้าไทยเรามันต้องคิดมาจากคนไทย ปัจจุบันนี้ที่เราทำกันอยู่คือส่วนใหญ่เราจะเห็นของคนนี้สวยของคนนั้นสวย เราก็จะก๊อปปี้ มันก็จะไม่เป็นตัวหรือเอกลักษณ์ของเรา
ขณะที่ ผอ.ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. บอกด้วยว่า ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยก็ตั้งมาจะ 40 ปีแล้ว ทำงานในด้านที่เกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะมาโดยตลอด ให้บริการแบบไม่ได้เลือก ถ้ามีปัญหามาเถอะทั้งการเดินเข้ามาหาโดยตรง ไปเจอออกบูธที่ไหนก็ปรึกษาได้ หรือเข้าไปในเว็บไซต์ วว. แล้วก็เสิร์ชหา “ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย” หรือถ้าเกิดไม่สะดวกมันยาวเกินไปจำไม่ได้ เข้าไปใน วว. แล้วพิมพ์Jump (วว.Jump) เดี๋ยวนี้จะมีแพลตฟอร์มใหม่ที่ให้ผู้ประกอบการหรือว่าผู้ที่สนใจใช้บริการของศูนย์ฯ สามารถที่จะเข้าไปเสิร์ชในนั้นมีหลายศูนย์อยู่ในนั้น แต่ว่าเขาก็จะแบ่งเป็นศูนย์เป็นศูนย์ไป เพื่อให้ง่ายว่าทำเกี่ยวกับหีบห่อหรือเปล่า ทำเกี่ยวกับการทดสอบอย่างอื่น แบบไหนผู้ประกอบการก็จะค้นหาง่าย“หรือมาแล้วยังไม่แน่ใจว่าจะไปปรึกษาเรื่องใด เราก็จะมีหลักสูตรการฝึกอบรมประจำปี ที่หลากหลายลองเข้าไปดูว่าสนใจเรื่องนี้หรือเปล่า มาแล้วก็จะได้คุยกับนักวิจัยนักวิชาการไปด้วยเลยว่าเรามีปัญหาอะไร เราจะทำอะไรได้บ้าง ก็มีหลายช่องทาง” หรือแม้กระทั่งอยากจะได้ตัวบรรจุภัณฑ์มีที่ไหนแนะนำบ้าง ทางศูนย์ฯ เองก็จะมีลิสต์รายชื่ออยู่ สิ่งที่ศูนย์ฯ กำลังพยายามทำอีกอันหนึ่งก็คือมีลิสต์รายชื่อของผู้ให้บริการหลาย ๆ รายที่จะให้เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานบรรจุภัณฑ์ด้วย
ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับบริการจาก “ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว.” สามารถติดต่อได้ที่196 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.0-2579-1121 ต่อ 3101 , 3208 หรือสนใจ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน” ติดต่อได้ที่086-302-2723 เพจ: Safer pac