ต่อยอด "ปทุมวัน Zero Waste" สู่งาน “THINK ทิ้ง..ชีวิต” อลิอันซ์ อยุธยา นำทีม “มาหามิตร” กระตุ้นแยกขยะ เลิกเทรวม

บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา นำทีม “มาหามิตร” (Alliance for Sustainability) จัดกิจกรรม “THINK ทิ้ง ... ชีวิต” ปลุกจิตสำนึกแยกขยะ เลิกเทรวม ทั้งระดับครัวเรือนและองค์กร ลดขยะไปสู่บ่อขยะฝังกลบให้น้อยที่สุด โชว์ผลงานรักษ์โลก 7 ศิลปินร่วมสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา “ขยะ” เกิดจากพฤติกรรมของเราทุกคน ก่อให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำลำคลอง ชุมชน และพื้นที่เมือง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

กลุ่มมาหามิตร นำโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ Chula Zero Waste มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เอ็ม บี เค สยามพิวรรธน์ กลุ่มสยามกลการ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะกลุ่ม “มาหามิตร” (Alliance for Sustainability) ส่งเสริมการแยกขยะ “เลิกเทรวม” เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกิจกรรม “THINK ทิ้ง ... ชีวิต งานใหญ่กลางกรุง” โดยหยิบแนวคิดการใช้ศิลปะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การตระหนักคิด สร้างจิตสานึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

งานนี้จัดขึ้น เพื่อตะโกนดังดังบอกทุกคนว่า “เลิกมักง่ายเถอะ” “แยกขยะกันเถอะ” เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน อีกทั้ง การทิ้งของเราทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ถ้าคิดก่อนทิ้งเราอาจเปลี่ยนชีวิตได้มากมาย ดังนั้น

เราจะทิ้งเพื่อ “สร้างชีวิต”
เราจะทิ้งเพื่อ “ปลูกชีวิต”
เราจะทิ้งเพื่อ “ช่วยชีวิต”
หรือเรา จะทิ้ง ... ชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราทุกคน

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะตัวแทนกลุ่มมาหามิตร กล่าวว่า กลุ่ม “มาหามิตร” เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะในเขตปทุมวัน ร่วมแสดงเจตจำนง ตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรเพื่อขยายผลสู่ภายนอก แต่ละองค์กรพันธมิตรอาจมีเป้าหมายธุรกิจที่ต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในมิติต่างๆ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ เรื่องการจัดการขยะในองค์กร ซึ่งต่อมาเกิดเป็นโครงการ ปทุมวัน Zero Waste ส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะไปสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะในวงกว้างขึ้น ปีนี้เราจึงต่อยอด สู่งาน “THINK ทิ้ง ... ชีวิต” เพื่อสะท้อนสถานการณ์ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการทิ้งของพวกเรา และชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการ “แยกขยะ” ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับองค์กร

นางสาวพัชรา กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา รณรงค์ให้พนักงาน 1,400 คน ของเราเข้าใจว่า "จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย มันสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าแยกสิ่งที่ทิ้งให้มีที่ไป ซึ่งเราได้ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว โดยแยกขยะออกเป็น 4 สเตชั่น ได้แก่ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ขวดแก้ว ชยะเศษอาหาร และขยะที่ไปต่อไม่ได้ ต้องเผาเช่น พลาสติก ฟรอยด์ ฯลฯ วันนี้เราสามารถลดขยะไปบ่อฝังกลับได้ดี เราจึงอยากขยายขอบเขตการตระหนักรู้ สู่สาธารณชน จึงเริ่มจากการไปดูชีวิตของคนเก็บขยะ มาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร และคุณเคยเป็นคนหนึ่งไหมที่ทิ้งโดยไม่คิด ว่ามันไปสร้างความลำบากให้กับคนเก็บขยะมากแค่ไหน เราเชื่อว่าถ้าทุกคนมีประสบการณ์จากมาแยกขยะเอง อย่างน้อยถ้าเขาไม่แคร์โลก เขาก็จะแคร์คนที่เก็บขยะ ที่ต้องทำหน้าที่อยู่หน้างานอันเกิดจากการทิ้งแบบไม่คิดของเขา"

“การแยกขยะ เป็นความลำบากคนทุกคนที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน แต่พอเรามาสร้างจิตสำนึก ให้คิดได้ว่าการช่วยเหลือจากเราเล็กๆ น้อย มันมีผลมหาศาลต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กรุงเทพมหานครใช้เงินหมื่นล้านบาทต่อปี ในการบริหารจัดการขยะ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน ก็จะสามารถลดเงินตรงนี้ และมีเงินเหลือไปสร้างเมืองให้สวยงาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน” นางสาวพัชรา กล่าว

นางสาวพัชรา ยังบอกด้วยว่า งานนี้เราได้เชิญศิลปิน 7 คน มาร่วมสร้างงานศิลปะ โดยการใช้วัสดุเหลือใช้มาประกอบร่างเป็นงานศิลปะ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเราไม่เรียกเขาว่าขยะ เราสามารถเอามาสร้างต่อให้มีคุณค่าได้ เราเชื่อว่าการดึงศิลปินเข้ามา มันจะสร้างการรับรู้ในเรื่องของขยะ ให้เป็นวงกว้าง เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนจำนวนมากได้รับรู้และตระหนักได้ถึงความสำคัญในการจัดการขยะของตัวเอง เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างความตระหนักรู้ว่า ถ้าคุณเทรวมมา มันเสียเวลาแยก แต่ถ้าคุณแยกมามันไปต่อได้ เพราะมีหน่วยงานที่สามารถรับขยะของคุณได้เลยทั้ง วงษ์พาณิชย์ เซอร์พลัส ส่วนขยะเศษอาหาร ซึ่งเราเรียกมันว่าขยะอินทรีย์ ก็สามารถหมักเองที่บ้าน โดยการนำใบไม้มาคลุมแล้วเอาปุ๋ยขี้วัวมาใส่ หมักไว้มันก็จะเป็นปุ๋ยที่สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวก็เริ่มแยกขยะจากที่บ้าน ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีขยะที่จะส่งไปบ่อฝังกลบเลย

นางสาวพัชรา กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้หลายคนตระหนักคือ สินค้าแฟชั่นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์เยอะที่สุด เพราะการผลิตผ้าใช้พลังงานเยอะมาก เราจึงรณรรงค์ ให้เอาเสื้อผ้ามารีไซเคิล มาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันโดยไม่ต้องซื้อใหม่ เป็นการลดใช้พลังงาน โดยภายในงานก็มีกิจกรรมนี้ด้วย โดยมีเด็กสองคนที่มีหัวใจไม่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์ เพื่อสื่อให้คนเข้าใจว่า เสื้อผ้าใส่แล้วมันเบื่อก็เอามาแลกกัน โดยไม่ต้องซื้อ ลดการใช้พลังงาน

“อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะผู้นำกลุ่มมาหามิตร มีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการจัดงาน “THINK ทิ้ง...ชีวิต” ครั้งนี้ เพราะปัญหาขยะ คือ ปัญหาเร่งด่วน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน” นางสาวพัชรา กล่าวย้ำ

๐ สะท้อนชีวิต...คนเก็บขยะ

ด้าน นายน้ำพุ โต๊ะกา พนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย กล่าวว่า ตนรักในอาชีพเก็บขยะ เพราะได้คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเสียสละ และอดทน ที่สำคัญเป็นงานสุจริตที่ทำให้พ่อมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้มีกินมีใช้ และเมื่อตนโตขึ้น ก็เลือกที่จะทำอาชีพนี้ และได้เข้าทำงานตั้งแต่อายุ 22 เริ่มจากเป็นพนักงานท้ายรถ จนเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย

“เป็นความใฝ่ฝันที่ผมมาจุดนี้ได้ เพราะมันมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต ผมทำอาชีพนี้มา 15 ปี วันนี้ผมมีเงินที่จะส่งลูก 4 คน ให้มีการศึกษา และเมื่อพ่อแม่ลูกเมียเจ็บป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แม้ว่าในสายตาคนอื่นเป็นงานต่ำ แต่สำหรับผมถือเป็นเกียรติที่ทำงานนี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมาทำงานจุดนี้และจะอยู่ได้นานนะ บางคนมาแล้วก็ไป ลองทำแล้วไม่ชอบเขาก็ไป แต่ผมรักงานนี้และทำงาน 7 วัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ แม้ว่าจะต้องทำงานในเวลากลางคืนก็ตาม เพราะนอกจากมีเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการแยกและขายขยะ นำเงินมาแบ่งปันให้กับลูกน้องได้ด้วย” นายน้ำพุ กล่าวด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

นายน้ำพุ ยังได้กล่าวถึงความเข้าใจของหลายคนที่มีความคิดว่า จะแยกขยะทำไม เพราะ กทม.ก็นำไปเทรวมอยู่ดี โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในแต่ละวันเมื่อเก็บขยะแล้ว ก็ต้องนำไปแยกที่สำนักงานเขต ซึ่งถ้าคนแยกมาก่อนแล้ว งานก็จะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่แยกก็จะทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายจนถึงต่อคนเก็บขยะ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันทั้งถุงมือยางถุงมือผ้าแล้วก็ตาม เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ที่เราเจอบ่อยคือ ไม้แหลม ไม้ลูกชิ้น เข็ม ที่สามารถทะลุถุงมือยางได้ คนเก็บขยะทุกคนเจอปัญหานี้ บางคนทิ้งขวดแตก กระจกแตก โดยไม่แยก ก็จะเป็นความลำบากของเรา เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา ไม่ได้ดูละเอียด จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน แยกขยะโดยถ้าเป็นเศษกระจก หลอดไฟ ที่แตกก็ให้ห่อกระดาษก่อนหรือเขียนไว้ ส่วนไม้แหลมก็ให้หักปลายหรือใส่ขวดก่อนทิ้งก็จะช่วยได้มาก ขยะบางอย่างเช่น แพมเพิร์ส บางคนไม้ห่อไม่มัด เราก็ต้องเจอแบบเต็ม ๆ มือ เหล่านี้คนทิ้งมันง่าย แต่คนเก็บเราต้องเจอกับเชื้อโรค แบบตรงๆ จึงอยากวิงวอนว่า ถ้าสิ่งไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอให้ความร่วมมือ” นายน้ำพุ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ มีผลกระทบกับประเทศไทยไหม นายน้ำพุ ยอมรับว่ามี ในฐานะที่คลุกคลีกับร้านรับซื้อขยะ ทำให้รู้ว่า ราคาการรับซื้อตกลง แต่ก็เข้าใจว่า เพราะเขานำเข้าขยะสะอาด ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเข้าขยะก็จะลดลง และผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศเรา

ผู้ร่วมจัดงานในกลุ่ม “มาหามิตร” จึงขอเชิญชวน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้รับรู้ถึงการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว ภายในงานยังมีการ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มากมายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนให้มีพฤติกรรมการทิ้งที่เปลี่ยนไป โดยมีการจำลองบ่อขยะ และเปิดประสบการณ์ชีวิตจริงของพนักงานเก็บขยะจากกทม. เริ่มจากห้องเปลี่ยนใจ ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทลายความเชื่อ ว่าแยกขยะไปทำไม หากสุดท้ายนำไปเทรวม ต่อด้วย กิจกรรมทิ้ง...ชีวิต ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้สวมบทบาทคนเก็บขยะ กับความท้าทายที่คุณไม่อาจเคยรู้ ต่อด่วยทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะทำให้การแยกขยะของคุณมีค่า และชุมชนแลกเปลี่ยนแฟชั่น Swoop Buddy

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอผลงานของ 7 ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย ประกอบด้วยผลงานของ คุณวิชชุลดา ปัณฑุรานุวงศ์ คุณจิรายุ ตันตระกูล คุณเอก ทองประเสริฐ คุณพงษธัช อ่วยกลาง คุณปรัชญา เจริญสุข คุณปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ คุณปิยาภา วิเชียรสาร และคุณชโลชา นิลธรรมชาติ จาก A Thing that is Pieces ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุส่วนเกินที่หลายคนไม่ต้องการ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลานใบบัวเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และ Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

 

ที่มา; https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000104078 

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566