บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคตจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร ศึกษาแนวคิดแคมเปญ Go Nature Go Carton ของ เต็ดตรา แพ้ค

ความยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงแค่กระบวนการการทำงานหรือการผลิตเท่านั้น แต่มันหมายถึงการบ่มเพาะพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ผู้ผลิต รัฐ หรือแม้แต่ผู้บริโภคเองก็ตาม ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบและร่วมสำนึกไปด้วยกัน

หากนับย้อนไปถึงโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแรกๆ ที่ดำเนินการในประเทศไทย สำหรับ เต็ดตรา แพ้ค (Tetra Pak) ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 20 ปี ซึ่งคุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ได้อธิบายว่า จุดยืนของ เต็ดตรา แพ้ค เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากการวางแนวทางของผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ในการลดขยะตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต แต่ต้องคงหน้าที่ของการเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยให้ได้ และต่อมาเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อรับรู้ถึงปัญหาขยะต่างๆ ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด #ภาวะโลกร้อน และมีส่วนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป ทั้งยังกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ด้วย

โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เต็ดตรา แพ้ค ไม่ใช่แค่เปิดตัวแคมเปญมากมาย เช่น โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ (Beverage Carton Recycling Project: BECARE), โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (“ภาฯ”) ยามยาก เป็นต้น  แต่เริ่มต้นแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ เน้นการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในภาพรวม จนไปถึงเพิ่มความเข้าใจและความจำเป็นว่าทำไมเราต้องคัดแยกขยะก่อนเสมอ

แคมเปญ Go Nature Go Carton ปรับโฟกัสเน้น #ความร่วมมือทุกฝ่าย

จนมาถึงโครงการล่าสุดที่เกิดเป็นแคมเปญ Go Nature Go Carton บอกเป้าหมายของเต็ดตรา แพ้คที่ชัดเจนในการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ทดแทนได้ และเปิดตัวไปแล้วทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ตลอด 5-10 ปีที่ผ่านมา ว่าสิ่งสำคัญ ณ เวลานี้สำหรับ เต็ดตรา แพ้ค ก็คือ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

อย่างที่เต็ดตรา แพ้ค ได้ร่วมมือกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-ประเทศไทย) และองค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council™: FSC™) ซึ่งทางเต็ดตรา แพ้ค มองว่า การทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนจะทำให้เกิดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเป็นการทำงานภายใต้ framework เดียวกันจริงๆ

โดยส่วนของ เต็ดตรา แพ้ค ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่เน้นความยั่งยืน และยึดความสำคัญที่ความปลอดภัยทางอาหารรวมถึงการลดปริมาณขยะอาหารให้เป็น top priority ซึ่งในครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ได้พยายามพัฒนาบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มเพื่ออนาคต ซึ่งจะเป็นกล่องเครื่องดื่มที่ใช้ทรัพยากรทดแทนได้ และต้องรีไซเคิลได้ทั้งหมด

อย่างเช่น การดีไซน์กล่องบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคตได้เลย เพราะสัดส่วนการใช้ ‘เยื่อกระดาษ’ จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผลิตจากวัสดุที่สามารถทดแทนได้ (Renewable Material) นอกจากนี้ เต็ดตรา แพ้ค ตั้งใจที่จะลดสัดส่วนการใช้อลูมิเนียม-พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ เต็ดตรา แพ้ค ก็คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่เป็นทรัพยากรทดแทนได้จากธรรมชาติ 100% (จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 60-70% ขึ้นอยู่กับขนาดของบรรจุภัณฑ์)

พอฟังๆ แนวคิดของทางเต็ดตรา แพ้ค แล้วชอบหนึ่งประโยคจากคุณปฏิญญา ที่พูดว่า “การโฟกัสที่สิ่งแวดล้อมของ เต็ดตรา แพ้ค ได้เกินจุดที่เป็น CSR ของบริษัทไปแล้ว เพราะจุดประสงค์สำคัญสูงสุดคือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย” ลองคิดภาพตามว่าถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด ไม่ใช่แค่งบประมาณบริษัทที่จะเลยเถิด แต่อาจจะไม่สบความความสำเร็จตามเป้าหมายก็ได้

#บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต ต้องปกป้องโลก เน้นวัสดุทดแทน และรีไซเคิลได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับบรรจุภัณฑ์ของ เต็ดตรา แพ้ค ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนอย่างเดียว แต่ยังมีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยยืดอายุของอาหารบนชั้นวางสินค้า แถมยังช่วยเก็บรักษาอาหารให้ปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องแช่เย็นหรือใช้สารกันบูดเลย

ที่น่าสนใจก็คือ เต็ดตรา แพ้ค มุ่งโฟกัสที่การปกป้องโลกมากกว่าเดิม ผ่านการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ วางเป้าหมายไปที่การสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มที่ผลิตจากทรัพยากรทดแทนได้ที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบทั้งหมด และรีไซเคิลได้ ซึ่งการรีไซเคิลต้องสามารถทำได้ทุกส่วนโดยไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

คุณปฏิญญา ได้พูดถึง การจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการใช้ประโยชน์จากป่าที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบว่า ทุกฝ่ายควรปรับความคิดยกให้เป็นวาระสำคัญ เพราะว่าพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันยังติดนิสัยใช้ทรัพยากรแบบหมดไป ซึ่งน่ากังวลมากสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

โดยการร่วมมือกับ FSC ในเรื่องนี้ก็คือ อุตสาหกรรมและทุกฝ่ายควรตระหนัก และให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เพราะอย่างน้อยๆ ก็เป็นการรับประกันว่ากระดาษ/เยื่อกระดาษที่บริษัทนั้นๆ นำมาใช้มาจากป่าปลูกทดแทนที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งการรับรองจาก FSC ถือว่าได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นโซลูชั่นการจัดการป่าไม้ที่เชื่อถือได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จะว่าไปแล้วแนวคิดของ เต็ดตรา แพ้ค ค่อนข้างน่าสนใจตรงที่ มีความเสมอต้นเสมอปลายในการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และยังยึดคำมั่นเดิมที่บอกว่าจะ “ปกป้องทุกคุณค่า” (PROTECTS WHAT’S GOOD™) แต่การที่เราจะส่งต่อโซลูชั่นแก้วิกฤตปัญหาของทรัพยากรให้เกิดผลได้ อย่างน้อยๆ เราต้องใช้ superpower จากทุกส่วนร่วมกัน

อย่างภาคอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ผลิตที่มีอำนาจโดยตรงในการเลือกใช้วัสดุ และมีอำนาจเพียงพอที่จะควบคุมคุณภาพ โดยการไม่ใช้วัสดุที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาครัฐหรือภาคการศึกษา ที่สามารถสร้างการรับรู้ และสร้างกรอบนโยบายที่เอื้อต่อภาคเอกชนได้

แต่อย่างน้อยๆ แนวคิดของเต็ดตรา แพ้ค ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคมั่นใจว่า เราสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องโลกได้ และไม่ต้องคอยเลือกระหว่างระบบนิเวศของโลก หรือการตอบสนองความต้องการด้านอาหารของเรา เพราะบรรจุภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตสามารถทำได้ทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน

 

ที่มา: https://www.marketingoops.com/exclusive/interview-exclusive/tetra-pak-go-nature-go-carton

วันที่ 23 เมษายน 2564