เปิดใจ “รศ.ดร.พีระศักดิ์” 1 ใน 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงาน IPITEx ปี 2023 จัดโดย วช. ชูผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

นักวิจัยไทย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากมหาวิทยาลัยนเรศวร 1 ใน 2 ของนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ หรือ IPITEX 2023 จัดโดย วช.ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566 หมาดๆ เปิดใจ ผลงานแห่งความภาคภูมิใจส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. รศ. ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจาก คณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการส่งออกผลไม้สดโดยเฉพาะมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทองที่มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวต่างชาติ แต่ยังมีตลาดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจและควรได้รับการพัฒนาสนับสนุนให้มีการส่งออก อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างมาก ทีมวิจัยได้ค้นพบแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทอง จาก งานวิจัย ที่ วช.ให้ทุนในโครงการ การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ด้วยการประเมินความสุกแก่ของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยใช้เทคนิค เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีแบบไม่ทำลายผลิตผล สามารถประเมินคุณภาพได้อย่างรวดเร็วถูกต้องมีความแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ ในการขนส่งทางเรือใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศให้มีความเข้มข้นออกซิเจนที่ 3 เปอร์เซนต์และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ 5 เปอร์เซนต์ร่วมกับสารชะลอความสุกแก่ I-MCP เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ได้แก่ถุง White Ethylene absorbing Bag ห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ ทำการส่งไปที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาขนส่ง 28 วัน มีระยะเวลาจำหน่ายอีก 7-9 วัน

ผลการประเมินความคุ้มค่าพบว่า การขนส่งทางเรือด้วยวิธีนี้มีต้นทุนต่อกล่องต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ การเน่าเสียของมะม่วงต่อปริมาณการส่งออกไม่เกิน 30 เปอร์เซนต์ ลดต้นทุน 11 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป เป็นแรงจูงใจที่สามารถเป็นทางเลือกในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปต่างประเทศได้ ช่วยผู้ส่งออกผลไม้สดไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอีกทางหนึ่ง

รศ.ดร. พีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่า ผลงานวิจัยเรื่องส้มโอฉายรังสีเพื่อการส่งออกที่ ทีมวิจัยได้รับทุนจาก วช. โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. สามารถตอบโจทย์การส่งออก ส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เนื่องจากข้อกำหนดการส่งออกผลไม้ มะม่วง ลำไยและส้มโอ จะต้องผ่านการฉายรังสีในปริมาณ 400 เกรย์ เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ ซึ่ง ทีมวิจัยได้ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว มีส้มโอที่ต้านทานรังสีในปริมาณ 400 เกรย์โดยรักษาคุณภาพไว้ได้ ประกอบด้วยพันธ์ส้มโอพันธ์ุทับทิมสยาม พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ส้มโอไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีผิวและสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมนำส้มโอไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าตามประเพณีและในงานประเพณี ถือเป็นผลไม้มงคล จะทำให้เกษตรกรสวนส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ที่พิจิตร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐมและส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในระหว่าง 5-12 มีนาคม 2566 เราจะนำส้มโอและมะม่วงมหาชนกไปจัดแสดงในงาน Natural Product ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตร สินค้าธรรมชาติและการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุด จัดที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผู้นำเข้าของไทยซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมในการส่งส้มโอ และมะม่วงมหาชนกไปยังสหรัฐอเมริกาต่อไป

รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยมือทองด้านการเกษตรและผลไม้ไทยกล่าวถึงโครงการวิจัยล่าสุดที่เพิ่งได้รับทุนจาก บพข. ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไร้คารบอน เป็นโครงการระยะ1ปี6เดือน เราจะทำโครงการพานักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสสวนผลไม้ที่ไร้คาร์บอนตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมสวนตั้งแต่ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งกำหนดพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และปากช่อง ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ที่พิษณุโลก สตรอเบอรี่ที่เขาค้อ องุ่นไซมัสแค้ทที่นำมาปลูกตั้งแต่พิษณุโลกถึงเชียงใหม่ เราอยากให้การท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างที่ในต่างประเทศทำกัน เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากสวนผลไม้ซึ่งจะต้องมีสิ่งดึงดูดใจใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว

“เราจะเข้าไปให้คำแนะนำเรื่องการจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไปแล้วอยากไปอีก กิจกรรมจะมีทั้งชม ชิม ช้อป แชะ ทั้งหมดจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้สวนผลไม้ขายได้มากขึ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มโหยหาการท่องเที่ยวใหม่ๆที่ไม่เคยไป เชื่อว่าการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำหรือไร้คาร์บอนจะเป็นกระแสตอบรับในเทรนด์ใหม่ของโลก

ไฮไลท์แห่งแรกที่เราเลือกคือ ปากช่อง เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพสามารถเป็นทริปต์วันเดียวได้ และมีการปลูกผลไม้อยู่มาก แต่จะทำอย่างไรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เป็นโจทย์ที่เราจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

 

ที่มา: https://mgronline.com/science/detail/9660000013196 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566